ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ชัยวัฒน์ ศรีแก้ว
เผยแพร่ : วันอังคารที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

“…นครศรีธรรมราชโชคดี ที่ไม่ได้ถูกเผาผลาญทางสงคราม เหมือนเมืองอื่นที่อยู่เหนือขึ้นไป เมื่อตั้งเมืองใหม่ขึ้นจึงต้องนำตำรับตำรา นักปราชญ์ราชบัณฑิตและพระภิกษุจากนครศรีธรรมราชขึ้นไปฟื้นฟูประเทศขึ้นใหม่…” (ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร จากหนังสือ ภูมิปัญญาคนนครฯด้านเอกสารโบราณ หน้า “คำนิยม” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗)

ร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏและสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่ท้าทาย ชวนให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ครูอาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษาและผู้สนใจใฝ่รู้ทั้งหลายได้ศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อทำความรู้จักดินแดนที่ร่ำรวยอารยธรรมและศิลปวัฒนธรรมในนาม “นครศรีธรรมราช” อย่างจริงจังและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อในที่สุดชาวนครศรีธรรมราช จะได้รับรู้ภูมิหลังของบ้านเกิดเมืองนอนและพูดถึงเมืองนครศรีธรรมราชอย่างภาคภูมิใจในทิศทางเดียวกัน อันจะนำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง ส่งผลดีการพัฒนาท้องถิ่น และบ้านเมืองในทุก ๆ ด้านต่อไป

เนื้อหาในบทความนี้ประกอบด้วย การปรากฏตัวของตัวอักษรชนิดแรกของโลก อักษรภาพ อักษรรูปลิ่ม อักษรบนแผ่นกระดาษปาไปรัส อักษรจีน อักษรกรีก และอักษรโรมัน การแพร่กระจายของตัวอักษรจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง อักษรโฟนีเชียนเผยแพร่เข้าสู่ประเทศอินเดีย อักษรพราหมี อักษรคุปตะ อักษรเทวนาครี และอักษรคฤนถ์ อักษรจากประเทศอินเดียเผยแพร่สู่ดินแดนนครศรีธรรมราชและในดินแดนแถบเอเซียตะวันนออกเฉียงใต้ อักษรปัลลวะ อักษรทมิฬ อักษรมอญ อักษรขอม กำเนิดอักษรไทยตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนคลี่คลายมากระทั่งปัจจุบัน ลายสือไทย อักษรฝักขาม อักษรไทยน้อย อักษรอริยกะ และอักษรไทยปัจจุบัน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้ สามารถเอื้อประโยชน์แก่ผู้สนใจใฝ่รู้ทุกท่าน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู – อาจารย์ ตลอดจนผู้ที่สนใจเป็นพิเศษ ด้านประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และอักขรวิทยา

ความหมายของอักษรและอักขรวิธีวิทยา

ตัวอักษร (Letters) คือ ลายเส้นที่ขีดเขียนเป็นรูปสัญลักษณ์ ใช้สื่อความหมายแทนภาษาพูด ซึ่งสังคมนั้น ๆยอมรับและเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์นั้น ๆ ตรงกัน ปราชญ์ทางด้านภาษามีความคิดเห็นตรงกันว่า “ตัวอักษรเกิดหลังภาษาพูดนับพันปี” และยังพบว่า ยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อย และภาษาถิ่นอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีตัวอักษรใช้แทนเสียงพูด

อักขรวิทยา (Palaeography) เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาพัฒนาการของตัวอักษรซึ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษามักจัดรวมให้อยู่เป็นรายวิชาของคณะอักษรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ หรือคณะอื่นตามแต่มหาวิทยาลัยแต่ละสถาบันจะกำหนดขึ้น และอาจจะเรียกชื่อรายวิชาแตกต่างกันไป เช่น ประวัติอักษรไทยบ้าง การอ่านจารึกสมัยต่าง ๆ บ้าง วิวัฒนาการตัวอักษรบ้าง การอ่านอักษรโบราณบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเอกในกลุ่มภาษาไทย (วรรณคดี หลักภาษา และอักษรไทย) ยิ่งในปัจจุบันการศึกษาประวัติอักษรไทยและอักษรท้องถิ่นมีความสำคัญมากขึ้น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเปิดสอนกันอย่างกว้างขวางทั้งระดับปริญญาบัณฑิต และปริญญามหาบัณฑิต

อักขรวิทยา (Palaeography) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาทั้งรูปแบบ (ลักษณะสัณฐาน หรือ Form) และอักขรวิธี (ระบบการประสมอักษร หรือ Orthography) เพื่อสืบค้นหาต้นตอ หรือต้นกำเนิดของตัวอักษรเหล่านั้น และได้คลี่คลาย หรือพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงมาเป็นอักษรชนิดใด โดยอธิบายให้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และการสืบทอดทางวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมทั้งวัฒนธรรมด้านการเขียนหนังสือ

การศึกษาวิวัฒนาการตัวอักษรของนักอักขรวิทยา มักจะใช้ข้อมูลตัวอักษรจากศิลาจารึก เพราะเป็นข้อมูลชั้นต้นที่ยังรักษารูปแบบเดิมของตัวอักษรไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และยังสามารถกำหนดยุคสมัยได้ชัดเจนจากศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึก หรือจากโบราณสถาน โบราณวัตถุที่สร้างในสมัยเดียวกันและกำหนดยุคสมัยได้

ศิลาจารึก หรือจารึก (Epigraphy) เป็นการบันทึกเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆของบุคคลในอดีตลงบนแผ่นหิน โลหะ งาช้าง เขาวัว เขาควาย งาช้าง กระดองเต่า แผ่นอิฐ หรือวัสดุคงทนอื่น ๆ

การศึกษาศิลาจารึก หรือจารึก มุ่งที่จะสืบค้นเรื่องราวที่คนโบราณบันทึกไว้ ซึ่งเป็นสาระหนึ่งทางด้านประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในยุคนั้น ๆ และยังมุ่งที่จะศึกษาภาษาโบราณ อักษรโบราณ และอักขรวิธีโบราณด้วย

ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงอักษรชนิดต่าง ๆ ที่ปรากฏตั้งแต่ยุคเริ่มแรก และวิวัฒนาการ คลี่คลาย เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมุ่งเน้น การวิวัฒนาการของตัวอักษรที่ปรากฏหลักฐานในนครศรีธรรมราชและอักษรไทย

วิวัฒนาการตัวอักษรยุคเริ่มแรก

๑. อักษรภาพ (Pictograph)
เมื่อ ๓๔,๔๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช ชาวเรนเดียร์ (Reindeer men) ซึ่งอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของยุโรป รู้จักขีดเขียนภาพ ลงบนกระดูกและเขาสัตว์เพื่อใช้รูปภาพสื่อความหมาย ต่อมาก็พบรูปภาพต่าง ๆ หรือ อักษรภาพ (Pictograph) ตามผนังถ้ำ เช่นถ้ำในประเทศสเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

๒. อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform)
เมื่อ ๓,๔๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช ชาวสุเมเรียน ( Sumerian) ซึ่งอยู่ทางเอเชียกลางแถบเมโสโปเตเมีย รู้จักใช้อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform) โดยใช้วิธีเขียนอักษรลงบนแผ่นดินเหนียวแล้วนำไปเผาไฟคล้ายก้อนอิฐ เพื่อใช้สื่อความหมายแทนอักษรภาพ (Pictograph) ซึ่งมีมาก่อนแล้ว ลักษณะตัวอักษรชนิดนี้คล้ายรูปลิ่ม

๓. อักษรอันศักดิ์สิทธิ์ (Hieroglyph)
เมื่อ ๓,๔๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช (เกิดขึ้นพร้อม ๆกับ อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform)) เป็นการแกะสลักหรือเขียนลงบนแผ่นหิน แผ่นไม้ ตามผนังโบสถ์ หรือบนหลุมฝังศพ อักษร Hieroglyphic เริ่มปรากฏครั้งแรกในประเทศอียิปต์

๔. บนแผ่นกระดาษปาไปรัส (Hieratic)
เมื่อ ๒,๙๕๗ปี ก่อนพุทธศักราช ชาวอียิปต์ คิดทำ ปาไปรัส (Papyrus) เพื่อใช้เขียนหนังสือ และเรียกตัวอักษรที่เขียนบนแผ่น ปาไปรัส (Papyrus) ว่า Hieratic

๕. อักษรจีน
เมื่อ ๒,๔๕๗ปี ก่อนพุทธศักราช โดยเริ่มต้นจาก อักษรภาพ (Pictograph) โดยใช้ของแข็งขูดขีดลงบนแผ่นหิน ดิน และต่อมาก็ขูดขีดลงบนลำไม้ไผ่

๖. อักษรโฟนีเชียน (Phoenician)
เมื่อ ๖๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช ชาวโฟนีเชียนซึ่งเป็นพวกที่ทำมาค้าขายทางเรืออยู่ตามชายฝั่งทะเล เมดิเตอเรเนียน ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแถบที่เป็นประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน ได้ดัดแปลงอักษร Hieratic ของอียิปต์ เป็นของตนเอง โดยกำหนดให้อักษรตัวหนึ่ง แทนเสียงอันหนึ่งเท่านั้น สำหรับตัวอักษรโฟนีเชียน มีเฉพาะพยัญชนะ ๑๙ ตัวเท่านั้น ไม่มีสระ และชาวโฟนีเชียนยังเป็นผู้เริ่มแรกที่คัดตัวหนังสือที่มีลักษณะเป็น Alphabet ขึ้น

๗. อักษรกรีก (Greek)
เมื่อ ๓๔๗ ปี ก่อนพุทธศักราช กรีกมีความเจริญขึ้นกว่าประเทศใดในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน จึงรับตัวอักษรจากโฟนีเชียน(Phoenician) มาดัดแปลงเป็นอักษรกรีก มีการคัดสระเสียงผสมและพยัญชนะตัวหนังสือของกรีกอย่างสวยงาม มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมเป็นมุมมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของอักษรชาติฝรั่งทั้งปวง

๘. อักษรลดเส้น เขียนง่าย (Demotic)
เมื่อ ๑๕๗ – ๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช อักษร Hieratic ของอียิปต์เริ่มเป็นรูปแบบ เช่น ลดเส้นลงเพื่อเขียนให้สะดวกและง่ายขึ้น จึงเป็นอักษรที่เรียกว่า Demotic

๙. อักษรซาเบียน (Sabaean)
เมื่อ ๑๘ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกซาเบียนมีอักษรของตน ลักษณะตัวอักษรใกล้เคียงกับอักษรโฟนีเชียน (Phoenician) บางตัวก็คล้ายกับ อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform) เนื่องจากพวกซาเบียน เป็นคนกลางทำการค้าระหว่างประเทศทางตะวันออกกับประเทศทางตะวันตก จึงทำให้ตัวอักษรโฟนีเชียน (Phoenician) ได้แผ่ไปถึงอินเดียด้วย โดยมีชาวซาเบียนเป็นผู้เชื่อมโยง และนำไปเผยแพร่พร้อมกับสินค้า

๑๐. อักษรโรมัน (Roman)
เมื่อ พ.ศ. ๔๔๓ กรีกเสื่อมอำนาจลง พวกโรมันเจริญขึ้นแผ่ขยายอาณาเขตไปยึดครองกรีกได้ จึงรับเอาวัฒนธรรมกรีกไปใช้ รวมทั้งรับตัวอักษรกรีก ไปดัดแปลงเป็นตัวอักษรโรมันอีกด้วย

อักษรโฟนีเซียนเผยแพร่สู่อินเดีย

๑. อักษรพราหมี
เมื่อ พ.ศ. ๓๐๑ – ๔๐๐ (พุทธศตวรรษที่ ๓) ปรากฏหลักฐานจารึกของพระจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ใหญ่เป็นมหาอำนาจพระองค์หนึ่งของอินเดีย จารึกดังกล่าว พอเชื่อมโยงให้เห็นเค้าว่าอักษรพราหมี ได้คลี่คลายมาจาก อักษรโฟนีเชียน (Phoenician) โดยผ่านมาทาง ชาวซาเบียน (Sabaean) พระเจ้าอโศกมหาราชมีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศอินเดียทั้งหมดตั้งแต่เหนือจรดใต้ ระหว่าง พ.ศ. ๓๐๑ – ๔๐๐ (พุทธศตวรรษที่ ๓) และได้นำตัวอักษรพราหมีของพระองค์เข้าไปเผยแพร่ ทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้เช่นกันพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์หมดอำนาจลง อักษรพราหมีของพระองค์ก็ถูกดัดแปลงเป็น อักษรคุปตะ อักษรเทวนาครี อักษรคฤนถ์ หรือ ครนถ์

เมื่อชาวอารยันอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอินเดีย ก็ได้ประดิษฐ์อักษรพราหมีขึ้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งคัมภีร์พระเวท หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พรหม” (ตามชื่ออักษร) ต่อมาเชื่อว่าอักษรพราหมีเป็นอักษรที่พระพรหมประทานมาและเป็นอักษรที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นอักษรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในอินเดีย

๒. อักษรคุปตะ
ระหว่าง พ.ศ. ๘๐๑ – ๙๐๐ (พุทธศตวรรษที่ ๙) พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือของอินเดียได้ดัดแปลงอักษรพราหมี เป็น อักษรคุปตะ อักษรดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปถึงธิเบต และทางตอนใต้ของจีน

๓. อักษรเทวนาครี
ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๐๑ – ๑๑๐๐ (พุทธศตวรรษที่ ๑๑) ได้มีการปรับปรุงอักษรคุปตะให้มีเส้นหัวอักษรหนาลักษณะคล้ายหัวตะปู และเรียกชื่ออักษรดังกล่าวว่า “อักษรหัวตะปู” อักษรชนิดนี้ใช้แพร่หลายทางตอนเหนือของอินเดีย และเป็นอักษรสำคัญ มักใช้จารึกภาษาสันสกฤต ใช้มาถึง พ.ศ. ๑๕๐๐ เศษ อักษรหัวตะปูดังกล่าว เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อักษรเทวนาครี” หมายถึง ตัวหนังสือในนครของเทพเจ้า

สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๐