ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : รองศาสตราจารย์ ดร. สืบพงศ์ ธรรมชาติ
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยแลมาเลเซียยุคเริ่มแรกคือ “เซมัง” หรือ”โอรังอัสลี” คนไทยโดยทั่วไปเรียกว่า “ซาไก”หรือ “เงาะ” ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ตรัง ยะลา นราธิวาส และตอนเหนือของประเทศมาเลเซียปัจจุบัน ชนเผ่าหรือกลุ่มถัดมาคือ “สยาม” หรือ “ไทสยาม” ซึ่งเป็นชนเผ่าไทกลุ่มหนึ่ง (สยามหมายถึงคล้ำหรือดำ) ชนเผ่านี้น่าจะอพยพมาจากที่อื่นเมื่อนานมาแล้ว เพราะมีหลักฐานหลายประการและวัฒนธรรมร่วมกับชนเผ่าไทในประเทศจีน สาธารณรัฐประชาชนลาว โดยเฉพาะหลวงพระบางซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ สิ่งชี้ชัดคือคนเผ่าไทส่วนหนึ่งที่บรรพชนอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ปัจจุบันตั้งแต่ตอนเหนือถึงใต้สุดเรียกตนเองว่า “สยาม” หรือ “สยามดั้งเดิม” (Orang Siam) คำพูดและวัฒนธรรมเป็นแบบเดิมอยู่ ชนเผ่าหรือคนกลุ่มถัดมาคือชาวมลายู ครั้นนานเข้าผู้คนเชื้อสายอื่น ๆ ก็เดินทางเข้ามาค้าขาย เผยแผ่ศาสนา และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีชนเผ่าหรือผู้คนเชื้อสายต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น อินเดีย ศรีลังกา จีน อาหรับ และฝรั่ง เป็นต้น

แรกเริ่มการดำรงชีวิตอยู่นั้นผู้คนดังกล่าวเหล่านี้นับถือผีหรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งวิญญาณบรรพชน ครั้นเมื่อเกิดศาสนาก็มีการนับถือศาสนา (ศาสนาหมายถึงคำสอน คำแนะนำ) ศาสนาแรกคือพราหมณ์ ตามมาคือ พุทธ ซิกข์ (สิกข์) เชน คริสต์ และ อิสลาม ตลอดจนลัทธิอื่น ๆ เช่น ขงจื๊อ เล่าจื๊อ และเทพใหม่ ๆ เป็นต้น ผู้คนหรือคนเชื้อไทยในภาคใต้ที่เรียกว่า “สยาม” ก็เช่นกัน นับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก่อน ต่อมานับถือพราหมณ์หรือฮินดู และต่อมานับถือศาสนาพุทธ บางส่วนนับถือ ซิกข์ คริสต์ และ อิสลาม แต่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

การเป็นอยู่ของคนไท “สยาม” ในภาคใต้เมื่อก่อนนั้นคงอยู่รวมเป็นผืนแผ่นใหญ่ที่เป็นประเทศต่าง ๆ ในปัจจุบันไม่ว่าลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย ครั้นต่อมาถึงช่วงหนึ่งก็มีการแยกเป็นกลุ่มการปกครองด้วยมีผู้คนที่มีหน้าตาลักษณะคล้ายกัน พูดภาษาสำเนียงเดียวกันมากขึ้น ตลอดจนมีวัฒนธรรมที่เหมือน ๆ กันก็รวมตัวกันตั้งเป็นเขตการปกครอง เขตการปกครองเก่าสุดของคนไท “สยาม” บ้างก็เรียกว่า “อาณาจักร” คือ “ตามพรลิงค์” ซึ่งมีชื่อปรากฏในคัมภีร์มหานิเทส ส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกเขียนขึ้นเมื่อราวพ.ศ. ๕๐๐ ตลอดจนอยู่ในจารึกโบราณตันชอว์ และเอกสารเก่าของจีน พ.ศ. ๑๐๐๐ กว่าเล็กน้อย สิ่งเหล่านี้แสดงว่า“ตามพรลิงค์” ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีต่างลงความเห็นเป็นส่วนใหญ่ว่าคือ “เขตการปกครองของคนไท (สยาม)”

ในสมัยก่อนนั้นเกิดก่อน พ.ศ. ๕๐๐ อาณาเขตโดยสังเขปตั้งแต่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคใต้เกือบทั้งหมด ภายหลังมีเมืองหรืออาณาจักรพี่น้องเกิดขึ้นมา คือ “ลังกาสุกะ” (ศูนย์กลางเดิมอยู่ที่เมืองไทรบุรีหรือรัฐเคดาห์ปัจจุบัน ต่อมาเปลี่ยนมาอยู่บริเวณจังหวัดปัตตานีปัจจุบัน) ซึ่งมีบันทึกของจีนและเอกสารเก่าของชาวตะวันตกบางส่วนได้บันทึกเอาไว้ ทำให้นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ไทยได้ศึกษามาต่อไม่ว่าข้าราชการ กรมศิลปากร และนักวิชาการด้านนี้ อีกจำนวนไม่น้อย

ผู้คนในเขตการปกครองดังกล่าวที่เรียกว่าตามพรลิงค์ต่อมาอยู่ในเขตอำนาจการปกครองที่เรียกว่า “ศรีวิชัย” และ “ศรีธรรมราชมหานคร” ถัดมาตามลำดับ แต่เขตการปกครองมีพื้นที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะช่วงเป็นศรีวิชัยครอบคลุมพื้นที่ถึงเกาะชวาและฟิลิปปินส์บางส่วนด้วย (ช่วงเรียกว่าศรีวิชัยบ้างว่าศูนย์กลางอยู่ที่ปาเล็มบังไม่ใช่ที่เป็นพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันบ้างว่าศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่ไชยา) เมื่ออำนาจการปกครองอยู่ในช่วงศรีธรรมราชมหานครซึ่งมีราชวงศ์ปทุมวงศ์พระราชามีพระนามว่าศรีธรรมาโศกราชปกครองนั้น เขตการปกครองจะมีตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปถึงด้านล่างของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน เรียกการปกครองเมืองว่า “เมืองสิบสองนักษัตร” เพราะมีสิบสองเมืองโดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบัน(ที่ตั้งเมืองอยู่ที่อำเภอลานสกา เมือง และท่าศาลา บางช่วงเลื่อนที่ศูนย์กลางเมืองเพราะเกิดโรคห่า) หากจะแบ่งช่วงพ.ศ.โดยประมาณจากเอกสารเก่าและการศึกษาของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ก็คงได้ว่า ตามพรลิงค์ก่อนพ.ศ. ๕๐๐ – ๑๒๐๐ เศษ ศรีวิชัยราว พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ – ๑๖๐๐ ศรีธรรมราชมหานคร (บางแห่งเอกสารเก่าใช้ศรีธรรมราชนครและนครศรีธรรมราช แต่คำศรีธรรมราชมหานครจะปรากฏจำนวนครั้งมากกว่า) ราว พ.ศ. ๑๖๐๐ – ๑๙๐๐ หลังจากนี้รวมตัวกับสุโขทัยและอยุธยาเป็นอาณาจักรสยาม (ไทสยาม) และเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยหรือไทยแลนด์ (ภาษาอังกฤษ) ช่วงสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

การดำรงอยู่ร่วมกันของคนสยาม (ไทหรือไทย) ใน “ตามพรลิงค์” นั้นคงใช้ความเชื่อในเรื่อง “ผี” หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ (Animism) อย่างชนชาติพันธุ์โบราณทั้งหลายเป็นเครื่องยึดโยงเป็นหลัก ต่อมานับถือศาสนาพราหมณ์ด้วยได้รับอิทธิพลด้านนี้จากชาวอินเดียที่เดินทางมาค้าขาย เผยแผ่ศาสนา และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ชื่อเมืองที่ตั้งก็บ่งบอกถึงความเป็นพราหมณ์หรือฮินดูเพราะ “ตามพรลิงค์” หมายถึง “ไข่สีแดง” หรือ “ไข่สีทองแดง” (ตามพรภาษาสันสกฤตหมายถึงสีแดงหรือสีทองแดง ลิงค์หรือลึงค์หมายถึงไข่หรืออวัยวะเพศชาย) เมืองนี้เคารพบูชาศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะหรือพระอิศวรนอกจากศิวลึงค์แล้วยังมีโยนิลึงค์ (สัญลักษณ์พระอุมามเหสีของพระศิวะหรือสัญลักษณ์ผู้หญิง) อยู่คู่กับศิวะลึงค์เป็นฐานรองด้านล่างด้วย หลักฐานเหล่านี้ยังพบอยู่ที่เขาคาอำเภอสิชล ฐานพระสยมที่อำเภอเมือง หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และศิวลึงค์หลักขนาดต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในที่พื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตลอดจนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทย คำว่า “ตามพรลิงค์” จะมีความหมายสอดรับกับคำว่า “สุวรรณภูมิ” ที่แปลเอาความว่า “ดินแดนทอง” ทำนองเดียวกับลึงค์หรือ ลึงค์คือพื้นที่ ตามพร คือสีแดงหรือสีทองแดง จึงน่าพิจารณาว่าดินแดน สุวรรณภูมินั้นศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันนี้เอง เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในบริเวณนี้มีมากจนกระทั่งปัจจุบันไม่ว่าแร่ธาตุ น้ำมัน อาหารนานาชนิด และพืชพันธุ์มีค่า มีภาษีได้เลี้ยงคนไทยส่วนอื่น ๆ ของประเทศตลอดมา

ความเป็นไท “สยาม” ตามพรลิงค์คงมีพระพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในจิตใจมากขึ้น ๆ ตามลำดับจนต่อมาส่วนใหญ่ชาวไท “สยาม” ตามพรลิงค์ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนาซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อยราว พ.ศ. ๒๓๖ ซึ่งเป็นปีที่ “พระโสณะและพระอุตตระ”พระธรรมฑูตสองพี่น้องจากอินเดียได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ในส่วนที่เป็นพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน มีหลักฐานว่าเป็น “สายที่๘” พระธรรมททูตมีทั้งหมด ๙ สาย ที่เข้ามาในดินแดนแถบนี้คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ญวน (เวียดนาม) และส่วนที่เป็นเกาะบางแห่ง ทั้งนี้โดยการทรงอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ของอินเดียซึ่งทรงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ด้วยพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ของอินเดียจึงทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายกว้างออกไปจากชมพูทวีป เข้าสู่สุวรรณภูมิและส่วนอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด

การนับถือพระพุทธศาสนาของคนไท “สยาม” ตามพรลิงค์คงค่อยเข้มข้นและมากขึ้นจนกระทั่งความเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์เจือจางลงไป ด้วยการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งตามลำดับ ไม่ว่าด้วยพระสงฆ์สาวกเทศนาธรรม การศึกษาธรรมและพระไตรปิฎกของผู้คนไทสยามในตามพรลิงค์นคร (ไทสยามซึ่งมีชนเชื้อสายอื่นปะปนอยู่ด้วย) จนกระทั่งเกิดวรรณกรรมพระพุทธศาสนาทั้งลายลักษณ์และมุขปาฐะ อันส่งผลต่อความเข้มข้นและปริมาณในการนับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น จนล่วงเข้าสู่สมัย “ศรีวิชัย”

ความเป็นพุทธก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีกเพราะเชื่อกันว่าผู้มีอำนาจในการปกครองของศรีวิชัยนั้นมีเชื้อสายทางอินเดียซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา การเสื่อมอำนาจการปกครองไปของไทสยามตามพรลิงค์นั้นมิใช่ว่าเชื้อสายของผู้มีอำนาจปกครองของตามพรลิงค์จะหายไปด้วย ปรากฏว่าเชื้อสายผู้มีอำนาจปกครอง“ตามพรลิงค์” ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่งช่วงราว พ.ศ. ๑๖๐๐ เศษ (บ้างว่าพ.ศ. ๑๗๐๐) ดั่งศิลาจารึกที่พบในจังหวัดนครศรีธรรมราชและไชยา และผู้มีอำนาจปกครองมีพระนามว่าศรีธรรมาโศกราช ทั้งที่พระนามศรีธรรมาโศกราชเฉย ๆ ศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุ และพระนามนี้ก็มีในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วงพ.ศ. ๑๕๐๐ เศษ ถึงพ.ศ. ๑๙๐๐ ก่อนที่ศรีธรรมราชมหานครจะรวมเป็นบ้านพี่แผ่นดินน้องกับสุโขทัยตอนปลาย (สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันอยู่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จไปนคร ฯ และทรงขอพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุได้จากลังกา (ศรีลังกา))

จากหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในเรื่องของพระพุทธศาสนาไม่ว่าโบราณวัตถุ หรือโบราณสถานทำให้เชื่อได้ว่าดินแดนไทยภาคใต้ในปัจจุบันซึ่งเคยปกครองในนาม “ตามพรลิงค์” “ศรีวิชัย” และ “ศรีธรรมราชมหานคร” นั้นมีการนับถือพระพุทธศานากันมาก่อนพ.ศ. ๕๐๐ ด้วยพระธรรมทูตพระโสณะและพระอุตตระเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖ แล้ว และเชื่อว่าการเดินทางเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิของคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาสายที่ ๘ ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งอินเดียนั้นน่าจะเดินทางมาโดยทางเรือมากกว่าทางบก เพราะการเดินทางสะดวกกว่าและรวดเร็วกว่าการเดินทางโดยทางบก และเมืองสำคัญ ๆ และเมืองท่า ล้วนแล้วแต่อยู่ในดินแดนไทยภาคใต้ในปัจจุบัน ทางฝั่งอันดามันมี ตะโกลา (ตะกั่วป่า) ทะรัง (ตรังหรือกันตัง) และฝั่งอ่าวไทยมีท่าเรือนคร ปากพนัง ท่าทอง (กาญจนดิษฐ์) และสิงขรา (สงขลา) เป็นต้น

ดังนั้นการเคลื่อนตัวของพระพุทธศาสนาจากอินเดียโดยพระธรรมทูตสายที่ ๘ จึงน่าจะขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นเอง และเคลื่อนขึ้นไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยซึ่งจะสอดคล้องกับศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ทรงให้ข้าราชบริพารจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ว่า “สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวกกว่าปู่ครูทั้งหลายในเมืองนี้ทุกคนลุกจากเมืองศรีธรรมราชมา…” (สงสัยคำว่า “มา” อาจจะเป็นมหานครหรือไม่)

การที่พระองค์ทรงให้บันทึกไว้อย่างนี้แสดงว่าศรีธรรมราชมหานครในช่วงพ.ศ. ๑๘๐๐ นั้น พระพุทธศาสนาเข้มแข็งมากแล้ว นอกจากพระสังฆราชและปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาแล้ว “หลวกกว่าปู่ครู” คือ คนที่เก่งยิ่งกว่าปู่ครู (แปลคำว่า “หลวก” ขยาย “กว่าปู่ครู” หลวกเป็นคำไทยโบราณหมายถึงคนฉลาดเฉียบแหลม บ้างใช้ก็ “ผู้หลวก”ภาคเหนือปัจจุบันบางจังหวัดยังใช้อยู่) ผู้หลวกดังกล่าวก็ขึ้นไปจากศรีธรรมราชทั้งสิ้น เพื่อไปช่วยสร้างสุโขทัยให้เจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ นั่นเอง และสอดคล้องกับในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชที่มีเนื้อความว่า “พระพุทธสิหิงค์ลอยมาทางทะเล (ชเล) ประทักษิณ (เวียนขวา) พระบรมธาตุนคร ฯ อยู่ ๗ วัน แล้วไปพระนคร ๗ วัน และไปเชียงใหม่ ๗ วัน” ข้อความนี้ประหนึ่งจะบอกว่าพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ขึ้นไปจากศรีธรรมราชมหานครสู่เมืองใหญ่ของไทยอีก ๒ เมือง คือ พระนคร (คงเป็นสุโขทัย) และเชียงใหม่ปัจจุบันทั้ง ๓ เมือง ยังมีพระพุทธสิหิงค์เป็นพระประจำเมือง

เมื่อถึงสงกรานต์จะอัญเชิญสู่ศูนย์กลางเมืองเพื่อสรงน้ำ คือ นครศรีธรรมราชอัญเชิญไปที่สนามหน้าเมือง เชียงใหม่อัญเชิญไปที่ถนนท่าแพ ส่วนที่สุโขทัยนั้นปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ กรุงเทพมหานคร จึงอัญเชิญไปที่สนามหลวง จะเห็นได้ว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองไทยเป็นพระพุทธรูปแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในกรณีถามหาองค์จริงที่มาจากศรีลังกาในสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุนั้น คงต้องหยุดถามกันได้แล้วและไม่จำเป็นต้องดิ้นรนค้นหา เพียงขอให้ชาวไทยรู้สำนึกร่วมกันว่าพระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ที่สร้างขึ้นล้วนเป็นพระพุทธสิหิงค์ ส่วนจะเป็นลูกเป็นหลานเหลนหลินก็เชื้อสายเดียวกัน ส่วนผู้ที่พยายามจะกล่าวว่าพระพุทธสิงหิงค์ไม่ได้มาจากลังกา ก็ขอให้เป็นเรื่องของเขาและคนกลุ่มเหล่านั้นพูดและเขียนกันเอง เหมือนกับมีคนส่วนหนึ่งพยายามจะบอกว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นของปลอมทั้ง ๆ ที่เป็นของจริง เพราะเหตุผลที่ว่าปลอมฟังไม่ขึ้นนั่นเอง

เรื่องราวของพระพุทธศาสนาในดินแดนภาคใต้ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันโดยมีองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นหลักฐานสำคัญนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าพระพุทธศาสนาคงมั่นที่หาดทรายแก้ว หรือนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่สมัยบรรพกาลแล้ว พระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องซ้ายที่อยู่ในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่เจ้าชายทนกุมารและเจ้าหญิงเหมชาลาทรงอัญเชิญลงเรือหนีกษัตริย์ต่างเมืองที่จะแย่งชิง เดินทางจากอินเดียจนมาอยู่ที่นครศรีธรรมราชนั้นเป็นสิ่งบูชามีค่ายิ่งของชาวศรีธรรรมราชมหานคร (ภาคใต้ทั้งหมดและมาเลเซียในปัจจุบัน) เป็นสิ่งยึดโยงจิตใจของคนไทสยามในส่วนนี้เอาไว้อย่างแข็งแกร่งตลอดมา และเชื่อว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชนั้นสร้างก่อน พ.ศ. ๑๖๐๐ เพราะจากตำนานมีว่าก่อนที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชรุ่นหลังจะทรงสร้างซ่อมบำรุงพระบรมธาตุนคร ฯ นั้น องค์พระบรมธาตุเจดีย์องค์เก่ามีอยู่ก่อนแล้วและคงมีลักษณะทำนองเดียวกับพระบรมธาตุเจดีย์ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยมีสิ่งน่าสังเกตคือภายนอกกำแพงพระด้านประตูทางเขาด้านทิศตะวันออกมีองค์เจดีย์แบบศรีวิชัยเช่นเดียวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ไชยาองค์ใหญ่อยู่องค์หนึ่ง จากตำนานบอกว่าสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ต่อจากพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชองค์ต่อมาสร้างเจดีย์แบบระฆังคว่ำคือแบบพระบรมธาตุเจดีย์ศรีลังกาที่เมืองโปโลนรานุวะนั่นเอง(องค์พระบรมธาตุที่เมืองนี้มีขนาดใหญ่มาก ๕-๖ เท่า ของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช)

ช่วงการสร้างเสริมพระบรมธาตุเจดีย์ตอนนี้เองที่ชนเชื้อชาติต่าง ๆ เข้ามามีส่วนในการดำเนินการเพื่อเป็นพุทธบูชาไม่ว่าจีน กัมพูชา พม่า ญวน และลาว ต่างก็นำสิ่งของมีค่ามาจะสร้างและถวายพระบรมธาตุจนเกิดตำนานและนิทานต่าง ๆ เช่น เก้าเส้ง หัวนายแรงที่สงขลา เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาในดินแดนภาคใต้ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบันนั้นมีความเข้มข้นลึกซึ้งตรึงในจิตใจคนในดินแดนไทยภาคใต้มาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว

เรื่องพระนางเลือดขาวเป็นเรื่องสำคัญที่ยืนยันถึงความเข้มข้นของพระพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ของประเทศไทยเพราะพระนางคือชายาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจันทรภาณุ (ตำนานหรือหนังสือเพลานางเลือดขาวของพัทลุงจะต่างออกไป) ที่เสด็จไปกับกองทัพไปศรีลังกาและได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับศรีธรรมราชมหานคร

เรื่องราวพระนางเลือดขาวมีอยู่ในตำนานและประวัติศาสตร์บอกเล่าในภาคใต้หลายจังหวัดทั้งในนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง ทั้งนี้อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ทำสารคดีออกเผยแพร่วิทยุโทรทัศน์แล้วหลายตอนใช้ชื่อ“ตามรอยพระนางเลือดขาว” และ “ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย ถึงศรีธรรมราชมหานคร” ถ่ายทำทั้งในภาคใต้ของไทยและบางส่วนในประเทศมาเลเซียปัจจุบัน และได้พบว่าพระนางทรงสร้างวัดไว้มากมายทั่วภาคใต้ เช่น วัดพระบรมธาตุนคร ฯ วัดพระนางตรา (?) วัดตุมปัง วัดแม่เจ้าอยู่หัว วัดใต้หล้า ในนครศรีธรรมราช วัดเจ้าแม่อยู่หัว (วัดท่าคุระ) วัดนางเหล้า และวัดชะแม ในจังหวัดสงขลา วัดพระนางสร้าง ในจังหวัดภูเก็ต วัดพระพุทธสิหิงค์ ในจังหวัดตรัง เป็นต้น พุทธวีรสตรีท่านนี้เป็นที่รู้จักกันของคนไทยภาคใต้มากขึ้นตามลำดับ และมีภิกษุณีธรรมนันทา (รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) พยายามจะเผยแพร่พระเกียรติคุณ หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องนี้จากที่ รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ และผศ.อัญชลี ชยานุวัตรได้ร่วมกันเสนอเรื่องของพระนางในการสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับสตรีไทยภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา (ปัจจุบันพ.ศ. ๒๕๕๕)

ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ก็ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง แม้นักวิเคราะห์ นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งจะบอกว่าน่าจะไม่เข้มข้นอย่างสมัยบรรพชนก็ตาม แต่เชื่อว่าพระพุทธศาสนาในดินแดนนี้จะดำรงคงอยู่อีกนานแสนนานสมกับที่เป็นอู่แห่งพระพุทธศาสนาของประเทศไทย เพราะพระไตรปิฎกทุกฉบับที่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนได้ต้นฉบับในการตรวจสอบ ตรวจทานและเขียนขึ้นใหม่ไปจากนครศรีธรรมราชทั้งสิ้น

จึงเป็นสิ่งยืนยันถึงความเข้มแข็งทางด้านพระพุทธศาสนาแต่เดิมมาหรือในรูปแบบของประเพณีวัฒนธรรมสำคัญที่ยังปฏิบัติอยู่ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนความมั่นคงและเข้มแข็งของพระพุทธศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชและภาคใต้ เช่น ประเพณีมาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติเมืองนคร ฯ (เมื่อก่อนเรียกแห่ผ้าขึ้นธาตุ) ประเพณีเดินวิ่งราตรีข้ามปีบูชาพระบรมธาตุ (เริ่มพ.ศ. ๒๕๔๑) การเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีในวัดพระบรมธาตุนคร ฯ (เริ่มมีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย) ประเพณีสงกรานต์แห่นางดานนครศรีธรรมราช (อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์สรงน้ำ) ประเพณีวิสาขบูชา (มีแห่ผ้าขึ้นธาตุด้วย) การตักบาตรข้าวหลามใส่โบสถ์ การให้ทานไฟ ประเพณีทำบุญเดือนสิบ และประเพณีลากพระ (อัญเชิญพระพุทธรูปใส่เรือหรือรถลากไปที่ศูนย์กลาง) เป็นต้น แต่ละประเพณีที่กล่าวมาล้วนเป็นประเพณีใหญ่ที่ล้วนแต่ได้หล่อหลอมจิตใจชาวพุทธในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ให้ปฏิบัติธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ส่วนว่าจะปฏิบัติมากน้อยนั้นย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยภาพรวมแล้วพระพุทธศาสนาในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ยังเข้มแข็งสมกับชื่ออาณาจักรศรีธรรมราช (มหานคร) หรือนครศรีธรรมราชปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนเคยให้ความหมายครั้งเฉลิมฉลองเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ ว่า “ปี พ.ศ.๒๕๔๒ เฉลิมฉลองนครศรีธรรมราช นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” หรือเขียนเป็นร้อยแก้วธรรมดาสรุปความได้ว่า “เมืองใหญ่ที่พระราชามีธรรม (ความถูกต้อง) เป็นเครื่องประดับ” นั่นเอง

สารนครศรีธรรมราช ฉบับที่ ๓ เดือนธันวาคม ๒๕๖๒