ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : คำรพ เกิดมีทรัพย์
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ภาคใต้ไม่มีฤดูหนาว แต่เมื่อลมว่าวหอบไอเย็นเข้ามาคราวใด ก็จะจัดแจง “ให้ทานไฟ” กันเป็นประเพณี

๑๒ มกราคม ๒๕๕๗ ผู้เขียนตื่นตีสี่กว่า ๆ มุ่งตรงไปที่วัดทุ่งแย้ วัดที่โบสถ์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลไชยมนตรี กุฏิวิหารตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ ๖ ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ถึงวัดในเวลาเช้ามืด เห็นแสงไฟลุกลามเผาไหม้ไม้ฟืนโชติช่วง ขับไล่ความหนาวเย็นอยู่กลางลานวัด ด้านเหนือ ด้านตะวันออกของลานวัด มีญาติโยมพุทธบริบัทเตรียมอาหารหวานคาวด้วยความศรัทธาด้านตะวันตกพระภิกษุสามเณรนั่งหันหน้ามาทางทิศตะวันออก ด้านใต้ทายกทายิกานั่งพับเพียบเรียบร้อย บนเสื่อสาดลาดปูบนพื้นถนน คอ-นก-รีต

วันนี้เป็นวันทำบุญให้ทานไฟ เป็นงานบุญประเพณีอีกงานหนึ่งของภาคใต้ อยากเขียนเล่าความ แต่ไม่ค่อยมีความรู้ จึงสืบค้นข้อมูล ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ประเพณีให้ทานไฟ” ของ พระมหาปรีดา ขันติโสภโณ จากอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สาระความที่ท่านมหาเขียนไว้ ขออนุญาตนำมาเป็นข้อมูลดัดแปลงแต่งเติม ดังนี้

๑. เกี่ยวกับพิธีกรรม

พิธีเริ่มในเวลาย่ำรุ่งวันนัดหมายที่จะให้ทานไฟ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล พร้อมใจมากันที่วัด โดยจัดแจงเตรียมอุปกรณ์สำหรับหุงหาอาหาร หรือเครื่องทำขนม เมื่อถึงบริเวณวัดก็ช่วยกันก่อกองไฟ ตั้งเตาเผาหม้อ และปรุงอาหารทำขนมกันทันที

ส่วนกองไฟจะก่อกี่กองก็ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของพระภิกษุสามเณรภายในวัด หรือที่นิมนต์มา จากวัดอื่น เมื่อก่อกองไฟเสร็จแล้วก็นิมนต์พระมาผิงไฟ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ปัจจุบันก่อพ่อเป็นพิธี

ประเพณีดั้งเดิม อาหารและขนมที่ ปรุงสุกแล้วยังร้อน ๆ อยู่ ก็ถวายประเคนพระภิกษุสามเณรให้ฉันได้ทันที ไม่ต้องเจริญพระพุทธมนต์ หรือ กล่าวคำถวายสังฆทานเหมือนกับพิธีทำบุญในโอกาสอื่น ขณะที่ทำขนมกันไปพระสงฆ์ ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด ขณะเดียวกัน ชาวบ้าน จะจัดเตรียมถุงหรือภาชนะเพื่อให้พระภิกษุสามเณรบรรจุอาหารนำไปฉันในตอนเพล เพราะตอนเช้าไม่ได้ออกรับบิณฑบาตตามปกติเหมือนทุกวัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว อาจจะอาราธนาให้ประธานสงฆ์ หรือพระเณรที่ประธานมอบหมายกล่าวสัมโมทนียกถาก็ได้ เสร็จแล้วประธานสงฆ์จะให้พร อุบาสก อุบาสิกากรวดน้ำรับพร พระสงฆ์กลับวัดไปปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ต่อไป ส่วนชาวบ้านที่มาร่วมในพิธีก็จะรับประทานอาหารและขนมที่เหลือ และช่วยกันทำความสะอาด ขนของกลับบ้าน เป็นอันเสร็จพิธีประเพณีการให้ทานไฟ

ปัจจุบันพบว่า มีพิธีการทางศาสนาเหมือนทำบุญปกติ คือ ชาวบ้านไหว้พระ รับศีล อาราธนาธรรม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ศาสนพิธีกรกล่าวคำถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร เสร็จภัตตกิจพระให้พรยะถาสัพพี เป็นอันเสร็จพิธี

๒. เกี่ยวกับ เวลา และสถานที่ให้ทานไฟ

ประเพณีการให้ทานไฟ นิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย หรือ เดือนยี่ของทุก ๆ ปี (ประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นใน ภาคใต้ ปัจจุบันอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นิยมทำกันในวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม เพราะตรงกับวันเด็กแห่งชาติ ทางสถานศึกษาได้นำเด็ก ครู และผู้ปกครองมาประกอบพิธีให้ทานไฟในบริเวณวัดที่ใกล้โรงเรียน เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของเด็กที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย

ผู้ร่วมให้ทานไฟเตรียมเตรียมอาหารตั้งแต่เวลาประมาณเวลาตีสี่ตีห้า ตามวัน เวลาที่ชาวบ้าน หน่วยงาน หรือโรงเรียนในละแวกวัดจะกำหนด

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีหรือการถวายทานไฟนั้น จะกระทำกันในบริเวณวัดหรือใน ศาลาวัดก็ได้ ในปัจจุบัน ประเพณีการให้ทานไฟนี้จะทำกันเฉพาะบางวัดในเขตอำเภอ ต่าง ๆ ประเพณีการให้ทานไฟนอกจากจะประกอบพิธีภายในวัดแล้ว ยังได้ขยายไปยังสถานศึกษาที่แสดงบทบาทในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วย

๓. อาหารและขนมในพิธี

อาหารที่จะถวายพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารที่ปรุงง่ายเป็นอาหารพื้นบ้าน ที่ยังร้อน ๆ อยู่ เช่น ข้าวต้ม ข้าวผัด ข้าวหมกไก่ ข้าวยำ ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวหลาม หมี่ผัด หรือ เป็นอาหารอื่น ๆ ก็ได้ที่สมควรแก่สมณบริโภค ในปัจจุบัน จะมีอาหารเช้าประเภทอาหารฝรั่ง เช่น หมูแฮม ไข่ดาว แซนด์วิช ไส้กรอก ลูกชิ้น ไก่ทอด หรือเป็นอาหารทางภาคอีสานก็มี เช่น ส้มตำ ลาบ เป็นต้น

ส่วนขนมก็จะเป็นขนมทางถิ่นใต้ ขนมพื้นบ้านอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่ สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรง เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู้จุน เป็นต้น

พระมหาปรีดา ขันติโสภโณ อธิบายวิธีทำขนม “กรอก” ซึ่งมีความเชื่อกันว่า เป็นขนมเบื้องของโกสิยเศรษฐี ที่ทำถวายพระสงฆ์ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร สืบทอดมาเป็น “ขนมกรอก” ที่ชาวพุทธเมืองนครศรีธรรมราช ทำถวายพระสงฆ์ในประเพณีให้ทานไฟ …ขนมกรอกมีส่วนผสม และวิธีทำง่าย ๆ คือ ใช้ข้าวสารเจ้าแช่น้ำ กรอกใส่รูครกบด ซึ่งทำด้วยหินเครื่องโม่ที่ชาวนครศรีธรรมราช เรียกว่า “หินบด” หรือ “ครกบด” เติมน้ำบดแป้งไม่ข้นหรือเหลวจนเกินไป ตั้งไว้ คั้นน้ำกะทิใส่ภาชนะตั้งไฟเคี่ยวให้แตกมัน ผสมลงไปในแป้งพร้อมน้ำตาล พอให้ออกรสหวาน ตอกไข่ใส่ตามส่วน ซอยหอมให้ละเอียดโรยแล้วตีไข่ให้เข้ากัน ต่อจากนั้นก็เอา กะทิตั้งไฟให้ร้อน ใช้น้ำมันพืชผสมไข่แดงเช็ดทากระทะให้เป็นมันลื่น เพื่อไม่ให้แป้งติดผิวกระทะ เมื่อหยอดแป้งละเลงให้เป็นแผ่น ต้องระวังไม่ให้แผ่นขนมกรอกบางเหมือนขนมเบื้องทั่วไป เพราะ จะไม่นุ่มและขาดรสชาติ พอสุกก็ตลบพับตักรับประทานทั้งร้อน ๆ นอกจากนี้ ดิเรก พรตตะเสน ได้ให้ข้อสังเกตว่า การทำขนมกรอก นอกจากอินเดีย ลังกาเจ้าตำรับเดิมแล้ว ในประเทศไทยยังเอาข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนขนาดผลมะตูม ใช้ น้ำตาลปึกเป็นไส้ในเสียบไม้คลุกไข่ แล้วย่างไฟจนสุกกรอบแล้วถึงถวายพระ

ปัจจุบันขนมกรอกดังกล่าวนี้ ไม่นิยมทำกัน อาจเป็นเพราะไม่มีผู้สืบทอดการทำขนมชนิดนี้ แต่นิยมทำขนมพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น ขนมครก ขนมผักบัว (เรียกตามภาษาพื้นเมือง ว่า ขนมจู้จุน) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันขนมและอาหารในประเพณีให้ทานไฟเพิ่มขึ้นจำนวนมากมาย ตามความสะดวกและศรัทธาของชาวบ้าน มีทั้งอาหารพื้นเมือง อาหารประจำภาคต่าง ๆ ในประเทศ ไทย และอาหารฝรั่ง พร้อมทั้งผลไม้และเครื่องดื่ม เช่น น้ำเต้าหู้ กาแฟ น้ำชา เป็นจำนวนมาก

๔. ประวัติความเป็นมา

พระมหาปรีดา ขันติโสภโณ เล่าถึงประวัติความเป็นมาของประเพณีการให้ทานไฟนี้ สันนิษฐานว่า มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีความเห็นเป็น ๒ นัย ดังนี้

นัยที่ ๑ เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “โกสิยะ” มีทรัพย์สิน ๘๐ โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยาและบุตรของตน ต่อมา เศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) จึงให้ภรรยาไปแอบทำขนมบนปราสาท เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้เห็นแล้วจะมาขอแบ่งขนมกินด้วย ความนี้ ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า เพื่อจะโปรดเศรษฐีให้มีใจน้อมไปในการบริจาคทานจึงได้มอบหมาย พระโมคคัลลานเถระ อัครสาวกเบื้องซ้าย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในด้านมีอิทธิฤทธิ์ ไปโปรดโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่คนนี้ เมื่อพระเถระรับพุทธบัญชาแล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ทรมานเศรษฐีด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเศรษฐีคลายความพยศ ได้ถวายขนมเบื้องแก่พระเถระ เพราะกลัวไฟจะไหม้ปราสาทของตนด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระเถระ

เมื่อเศรษฐีถวายขนมเบื้องแล้ว พระเถระได้แสดงพระธรรมโดยพรรณนาคุณพระรัตนตรัย และแสดงอานิสงส์การให้ทาน จนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใส ได้นำขนมเบื้องและวัตถุทานอื่น ๆ มาถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องที่เศรษฐีนำมาถวายพระ มีเหลือมากมาย แม้จะแจกจ่ายแก่ชาวบ้าน คนยากจนขอทาน ขนมก็ยังล้นเหลือ จนถึงกับนำไปเททิ้ง ที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทิ้งนั้น เรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง
กาลต่อมาโกสิยเศรษฐีกลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และ ได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ ประเพณีการให้ทานไฟในปัจจุบัน

นัยที่ ๒ นายเจริญ ตันมหาพรหม ได้ให้ทัศนะความเป็นมาของประเพณีการให้ทานไฟไว้ว่า การให้ทานไฟนี้ ปรากฏอยู่ในครั้งพุทธกาล ณ เมืองสาวัตถี นครหลวงแห่งแคว้นโกศล ที่ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก อีกทั้ง เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษามากที่สุด คือรวมทั้งหมด ๒๕ พรรษา

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่บนปราสาทชั้นบนทอดพระเนตรไปทางถนนในพระนคร เห็นพระภิกษุจำนวนนับร้อยนับพันไปยังบ้านของท่านอนาถปัณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาบ้าง และบ้านของคนอื่นๆ บ้าง เพื่อรับบิณฑบาตบ้าง เพื่อฉันภัตตาหารบ้าง พอเห็นดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงโปรดฯ ให้จัดภัตตาหารอันประณีตเพื่อพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป แต่ปรากฏว่ามีเพียงพระอานนท์รูปเดียวเท่านั้นที่มารับบิณฑบาต พอพระอานนท์กลับไปแล้ว จึงตรัสถามมหาดเล็ก ได้รับคำกราบบังคมทูลว่า มีแต่พระอานนท์รูปเดียว เท่านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกริ้วภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลว่า ได้ให้ห้องเครื่องจัดภัตตาหาร ตั้งไว้ถวายพระประมาณ ๕๐๐ รูป ไม่ปรากฏมีพระมารับกันเลย ของที่จัดไว้เหลือเดนอยู่อย่างนั้น เหตุใดพระภิกษุไม่เห็นความสำคัญในพระราชวัง นี่เรื่องอะไรกัน พระพุทธเจ้าได้ทรงฟังพระดำรัสดังนั้นก็เข้าพระทัยตลอด ไม่ตรัสตำหนิโทษพระภิกษุทั้งหลาย และถวายพระพรว่า “สาวกของอาตมภาพไม่มีความคุ้นเคยกับมหาบพิตร เพราะเหตุที่ไม่มีความคุ้นเคย นั่นเองจึงไม่พากันไป”

ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ทรงประกาศเหตุที่ภิกษุไม่ควรเข้าไปในตระกูลประกอบด้วยองค์ ๙ คือ
๑. ไม่ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
๒. ไม่ไหว้ด้วยความเต็มใจ
๓. ไม่ให้อาสนะ (นิมนต์นั่ง) ด้วยความเต็มใจ
๔. ซ่อนเร้นของที่มีอยู่
๕. ของที่มีมากแบ่งให้นิดหน่อย
๖. มีของประณีต แต่ให้ของเศร้าหมอง
๗. ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยเคารพ
๘. ไม่นั่งฟังธรรม
๙. ไม่สนใจต่อถ้อยคำของกันและกัน

องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้ง ๙ ประการนี้ ถ้าภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ไม่ควรเข้าไป เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้ เมื่อเรื่องนี้ผ่านไปแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงครุ่นคิดอยู่ว่าพระพุทธองค์ตรัสแต่ว่า สาวกของพระองค์ไม่มีความคุ้นเคยในราชสำนัก ทรงดำริต่อไปว่า ถ้าภิกษุสามเณรมีความคุ้นเคย ในราชสำนักแล้ว ก็คงจะพากันเข้ามาวันละมากๆ รูป เหมือนพากันไปในบ้านของนางวิสาขาและ บ้านของอนาถปัณฑิกเศรษฐี ทรงคิดอยู่ว่า “ทำอย่างไรพระเณรจะมีความคุ้นเคยกับเราได้” พระองค์ทรงพิจารณาถึงสภาพในฤดูหนาวในเมืองสาวัตถี พระภิกษุสามเณรคงหนาว เย็นกว่าฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งยามออกบิณฑบาตในตอนเช้าตรู่ ความหนาว เย็นคงเป็นอุปสรรคมาก เพราะพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เพียง ๓ ผืน นอกจากนี้ ยังทำให้พระภิกษุที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ตามวัดและสถานที่ต่าง ๆ บางรูปร่างกาย อ่อนแอถึงกับอาพาธได้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเกิดความเวทนาและก่อไฟถวายพระให้ได้ผิงในยาม ใกล้รุ่ง ต่อมา ชาวเมืองเห็นว่า การให้ทานไฟในตอนใกล้รุ่ง อีกไม่นานฟ้าก็จะสว่าง จึงได้ เสาะหาหัวเผือก หัวมันมาเผา และนำแป้งมาปรุงเป็นภัตตาหารถวายพระภิกษุสามเณร เป็นการ ทำบุญจะได้อานิสงส์มากขึ้น เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประเพณีให้ทานไฟพลอยตกทอดมาถึงพุทธศาสนิกชนชาวเมืองนี้ด้วย

ถึงแม้ความเห็นทั้ง ๒ นัยนี้ จะไม่กล่าวถึงการให้ทานไฟโดยตรง แต่ก็มีเค้ามูลหรือสาเหตุ ให้สันนิษฐานได้ว่า ประเพณีการให้ทานไฟมีประวัติความเป็นมาดังที่กล่าวมาแล้ว

๕. กิจกรรมเสริม

กิจกรรมเสริมในประเพณีให้ทานไฟแต่ละถิ่น มีแตกต่างกัน เช่น บางวัดมีการแสดงของแม่บ้าน นักเรียนนักศึกษา มีมหรสพ หนังตะลุง มโนราห์ แสดง หัวค่ำผู้ศรัทธาแต่ละซุ้ม แต่ละเต็นท์ทำขนม บริการประชาชนตามแต่ใครจะทำบุญ หัวรุ่งทำข้าวของ ขนม นมเนยถวายพระ ประเพณีทำบุญให้ทานไฟที่วัดทุ่งแย้ ปีนี้มีมโนราห์รำถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

๖. ประโยชน์ที่ได้จากประเพณี

พระมหาปรีดา ขันติโสภโณ กล่าวถึง ประโยชน์ที่ได้จากประเพณีการให้ทานไฟของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่าแก่ปัจเจกชน และ สังคมโดยส่วนรวม ดังนี้
๑. ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพบกัน พูดคุยกัน และร่วมมือกันประกอบพิธีกรรมภาย ในวัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านกับพระสงฆ์ได้วิสาสะสร้างความคุ้นเคยตามหลักสาราณียธรรม โดย อาศัยประเพณีการให้ทานไฟนี้
๒. พุทธศาสนิกชนได้ปรารภความเพียร มีความขยัน โดยการตื่นนอนแต่เช้าตรู่ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ปรุงอาหารขนมถวายพระ ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดี แข็งแรง เพราะการตื่นนอน ตอนเช้าตรู่ ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน แจ่มใส
๓. เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รับประทานอาหารพร้อมกัน เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ และสร้างความเป็น ปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม
๔. ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการถวายความอุปถัมภ์ให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นผู้รักษาสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป
๕. ได้บำเพ็ญบุญบารมี ด้วยการถวายทานเป็นการสั่งสมความสุขและความดีไว้กับตน อันเป็นเกาะคือที่พึ่งในปรโลกเบื้องหน้า ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๖. ได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีการให้ทานไฟ เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของ พุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ต่อไป
๗. ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดย อาศัยประเพณีนี้ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคมมากมาย

ประเพณีการให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุสามเณร คลายหนาวโดยการถวายอาหารร้อน ๆ การให้ทานไฟ เป็นพิธีของชาวบ้าน และทำกันเฉพาะถิ่นของชาวนครศรีธรรมราช ในปัจจุบันมีวัดที่อนุรักษ์ และ สืบสานประเพณีนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ ภาคเอกชน และส่วนงานอื่น ๆ ในการจัดประเพณีการให้ทานไฟ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่มีคุณค่านี้ไว้แก่ อนุชนรุ่นหลัง เหมือน วัดทุ่งแย้ วัดที่โบสถ์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลไชยมนตรี กฏิวิหารตั้งอยู่ในเขต หมู่ที่ ๖ ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ดังชื่อ ฟ้าแจ้งจางปางที่วัดสองตำบล ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

จากบทความ “ฟ้าแจ้งจางปางที่วัดสองตำบล” ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๕๗