ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

แห่ผ้าขึ้นธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช
“แห่” อย่างไร ? “ผ้า” อะไร ?
“ขึ้น” ตรงไหน ? “ธาตุ” หมายถึงอะไร ?

๑. “แห่” อย่างไร ?

“…ฉันสั่งให้ห่มผ้าพระมหาธาตุ พวกราษฎรพากันมีใจด้วย ตั้งกระบวนแห่แต่ตลาดท่าวังผ่านหน้าพลับพลา…ผืนผ้านั้นคลี่ยาว ผู้ที่ช่วยแห่ถือคลี่ไปบนศีร์ษะเป็นธรรมเนียมเขาต้องแห่เช่นนี้ทุกปี…”

“…มีกระบวนมหรสพแห่ผ้าห่มพระธาตุนั้นไปสู่วัด ชาวเมืองได้ช่วยกันถือชายผ้า เข้ากระบวนแห่ไปเป็นอันมาก…”

๒. “ผ้า” อะไร ?

“…ผ้าที่ห่มนั้นเป็นผ้าแดง ๗๐ พับเพลาะต่อกัน และทำเป็นหัวมังกรต่อข้างต้นผ้า…”

“…ราษฎรชาวเมืองมีความชื่นชมโสมนัสพร้อมใจกัน โดยเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชกุศล ได้เรี่ยรายเงินจัดซื้อผ้าแดงผืนใหญ่สำหรับถวายห่มองค์พระมหาธาตุ…”

“…เวลาบ่ายแห่ผ้าห่มพระมหาธาตุตามเคย แต่หาผ้าแดงไม่ได้ ซื้อทำธงรับเสด็จกันหมดเมือง จึงต้องใช้ผ้าพื้นชมพู”

“…เจ้าพนักงานจัดตั้งโต๊ะเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหาธาตุในวิหารพระภิเนษกรมณ์ มีต้นไม้ทองเงินเล็กคู่หนึ่ง ผ้าสีชมพูถวายองค์พระมหาธาตุม้วนใหญ่ม้วนหนึ่ง…”

“…ทรงพระสุหร่ายถวายพระมหาธาตุ แล้วพระราชทานผ้าม้วนสีชมพูแก่พระยาเทพาภรณ์นำไปถวายห่มพระมหาธาตุ…”

๓. “ขึ้น” ตรงไหน ?

“…พระราชทานผ้าม้วนสีชมพูแก่เสวกเอก พระยาเทพาภรณ์ เจ้ากรมภูษามาลา นำไปห่มถวายห่มพระธาตุ คือคลุมรอบหน้ากระดานบัลลังก์แห่งองค์พระมหาธาตุเหนือองค์ระฆังภายใต้ปล้องไฉน…”

“…รถเดินช้าๆ พอสบช่องโปร่งแลเห็นพระมหาธาตุได้ถนัดถึงองค์ระฆัง ซึ่งยังคงมีผ้าแดงห่มอยู่…”

๔. “ธาตุ” หมายถึงอะไร ?

“…“พระธาตุ” นั้น ความจริงหมายถึง “พระบรมสารีริกธาตุ” อันประดิษฐานอยู่ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์…”

ความข้างต้นที่เป็นวิสัชนาของปุจฉาทั้ง ๔ นั้น คัดมาจากที่มา ๔ แหล่ง คือ

๑. พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๑๗

๒. พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๒๔

๓. จดหมายเหตุระยะทางพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ถึงวันที่ ๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘

๔. บทความพระธาตุไร้เงา อัศจรรย์หรือเพียงแค่ “คำคนโฉดเขลา เล่าลือกันไป”

๑. แล้วจะต้อง “แห่” อย่างไร ?

ภาพของการแห่นั้น ปรากฏชัดจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๗ (พุทธศักราช ๒๔๔๑) คือกำหนดระยะทางของการแห่จากตลาดท่าวังเป็นจุดเริ่มต้นมาตามถนนราชดำเนิน ผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณสนามหน้าเมืองปัจจุบัน ความน่าสนใจอยู่ที่ลักษณะของผ้าที่ใช้ห่มนั้น มีการ “เพลาะ” คือการเย็บริมให้ติดกันของผ้าแดงถึง ๗๐ พับ การที่ต้องเพลาะต่อกันนั้นอาจเป็นเพราะไม่สามารถทอผ้าหน้ากว้างห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ทั้งองค์ จึงอาศัยผ้าผืนยาวแล้วใช้ด้านยาวของแต่ละผืนมาเย็บติดกัน นอกจากนี้ยังทรงระบุว่ามีการทำเป็น “หัวมังกร” ที่หัวผ้า ส่วนนี้เข้าใจว่าเป็นการใช้เทคนิคเดียวกันกับการผูกผ้ามัดดอก แต่ออกแบบให้เป็นรูปทรงหัวมังกรเพื่อเป็นการรวมผ้าและอาจเพื่อสะดวกในการแห่ไปตามถนน

ส่วนวิธีการจับแห่ไปนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชหัตถเลขาไว้อย่างน่าสนใจว่า “เป็นธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชที่จะต้อง “ถือคลี่ไปบนศีร์ษะ” คล้ายกับอาการ “ทูลเกล้าทูลกระหม่อม” ก่อนจะน้อมถวายต่อบุคคลที่ควรบูชาด้วยอาการนอบน้อมอย่างสูงสุดนี้

ระหว่างทางแห่ผ้าในสมัยรัชกาลที่ ๖ (พุทธศักราช ๒๔๕๘) ปรากฏว่า “มีกระบวนมหรสพแห่ผ้าห่มพระธาตุนั้นไปสู่วัด” ส่วนรายละเอียดของมหรสพว่าจะเป็นชนิดใดนั้นไม่ปรากฏ ระบุแต่เพียงในขณะชักผ้าขึ้นทอดมีการประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรี พระสงค์สวดพระพุทธมนต์สมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ จุดดอกไม้เพลิง มีพุ่ง พะเนียง ต้นไม้กระถาง พลุ มหาดเล็กกรมมหรสพแสดงโขนบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนเผาเมืองลงกา รุ่งขึ้นเวลาบ่าย พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ เวลาค่ำทรงจุดดอกไม้เพลิง แล้วมีละครหลวงเล่นเรื่องพระร่วง บทพระราชนิพนธ์ ตอน ขอมดำดิน เป็นเสร็จการสมโภชพระมหาธาตุ

๒. จะต้องใช้ “ผ้า” อะไร ?

จากวิสัชนาข้างต้น ในข้อนี้จะเห็นว่ามีการใช้ผ้าที่ไม่ระบุรายละเอียดไปมากกว่าสีและขนาด แต่พอจะบ่งชี้อะไรได้อย่างน้อย ๒ ประการ

๑. ผ้าสีชมพูและสีแดงนั้นใช้ต่างกันและมีที่ไปที่มา

หากดูตามหลักฐานทั้ง ๔ ฉบับที่อ้างถึง หลักฐานฉบับแรกคือพระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ร.ศ. ๑๑๗ เป็นฉบับแรกที่มีปรากฏการบันทึกเรื่องของการใช้ผ้าเอาไว้ว่าใช้ผ้าพื้นสีแดง และต่อมาเมื่อเสด็จประพาสอีกครั้งใน ร.ศ. ๑๒๔ ทรงพระราชหัตถเลขาเอาไว้ว่าผ้าสีแดงนั้น “หมดเมือง” เนื่องจากราษฎรนำมาตัดเป็นธงรับเสด็จ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ผ้าสีชมพู ซึ่งอาจเป็นที่มาให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำเนินตามรอยสมเด็จพระราชบิดา คือการใช้ผ้าพื้นสีชมพูถวายเป็นการส่วนพระองค์ ในขณะที่ชาวเมืองนั้น ยังคงใช้ผ้าพื้นสีแดงอยู่ตามธรรมเนียมเดิม ดังเช่นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับโดยรถไฟ หม่อมราชวงศ์จิตร สุทัศน์ ในนามปากกา “สักขี” ได้บันทึกเอาไว้ว่า “…รถเดินช้า ๆ พอสบช่องโปร่งแลเห็นพระมหาธาตุได้ถนัดถึงองค์ระฆัง ซึ่งยังคงมีผ้าแดงห่มอยู่…” ในขณะที่เมื่อคราวเดียวกันที่เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ นั้น

“…พระราชทานผ้าม้วนสีชมพูแก่เสวกเอก พระยาเทพาภรณ์ เจ้ากรมภูษามาลา นำไปห่มถวายห่มพระธาตุ…” จนอาจเป็นพระราชนิยมส่วนพระองค์ เพราะเมื่อเสด็จประพาสอีกครั้งในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ก็โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ทอดผ้าสีชมพูถวายองค์พระบรมธาตุเจดีย์ดังเดิม

๒. แล้วความเข้าใจว่า “พระบฏ” เข้ามามีบทบาทในฐานะผ้าห่มพระธาตุนั้น มีที่ไปที่มาอย่างไร ?

เบื้องแรกขอคัดตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ใช้กันเป็นหลักฐานทางราชการ คือฉบับกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือฉบับกระดาษฝรั่ง ซึ่งระบุเรื่องนี้เอาไว้เพียงย่อหน้าหนึ่งว่า

“ครั้งนั้นยังมีผขาวอริยพงษ์อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นปากพนัง พระบตซัดขึ้นปากพนังชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบต กางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอินทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำพระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบตก็ร้องไห้ พระญาถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดีนิมนตพระสงฆ์ ผขาวก็ลงสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์มา ๒ พระองค์ องค์หนึ่งชื่อมหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อมหาเถรสัจจานุเทพฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์มา ทำพระธาตุลงปูนเสร็จแล้วพระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์ พระสงฆ์เมืองลังกามา เสกพระมหาธาตุ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำนานฉบับนี้ถือเป็น “ต้นขั้ว” ของประเพณี “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” ด้วยการตีความต่อจากตำนานว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเมื่อรับผ้าพระบฏ หรือที่ในตำนานเขียนว่า “พระบต” แล้ว รับสั่งให้ซัก ขึงไว้ที่ท้องพระโรง ก่อนนำออกแห่ขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์

ทั้งนี้ จากการอ่านต้นฉบับของตำนาน มีข้อสังเกต (เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผ้าพระบฎ) ดังนี้

๑. ตำนานไม่ได้ระบุว่าได้นำผ้าพระบฏขึ้นห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์

๒. ตำนานไม่ได้ระบุสี ขนาด และชนิดของผืนผ้า

๓. ผ้าพระบฏตามจุดมุ่งหมายเดิมที่ระบุในตำนานคือการบูชา “รอยพระพุทธบาท” ที่เมืองลังกา
อนึ่งตำนานท้องถิ่นในลักษณะมุขปาฐะที่เล่าลือกันสืบต่อมาในปัจจุบันนั้น อาจใช้โครงเรื่องมาจากตำนานฉบับนี้ โดยจะเห็นว่ามีเค้าเดียวกันคือเรือแตก – ผ้าพระบฏซัดขึ้นที่ปากพนัง – นำถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ส่วนที่แตกต่างอาจจะเป็น “ที่ไป” ของผ้าพระบฏซึ่งตำนานไม่ได้ระบุต่อ ชื่อตัวละคร ชื่อเมือง หรือสถานที่ เป็นต้น

ว่าด้วยเรื่องผ้าพระบฏ

ผ้าพระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าหรือพุทธประวัติแขวนไว้บูชาแทนรูปปฏิมากรรม (สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, ๒๕๔๖ : ๑-๒)

หากอิงตามความหมายของผ้าพระบฏและการพบเห็นทั่วไปจากประเทศที่มีวัฒนธรรมผ้าพระบฏ เช่น ทิเบต จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี จะมักเห็นผ้าพระบฏเป็นแนวตั้งเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเหมาะแก่การบูชาด้วยการ “แขวน” ข้อสำคัญคือ แต่โบราณกาลเรียกประเพณีนี้ว่า “แห่ผ้าขึ้นธาตุ” โดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงลงไป ว่าผ้าที่แห่คือ “พระบฏ” หรือใช้ผ้าอะไรและสีอะไร ดังนั้นในความรับรู้ของคนพื้นถิ่น “ผ้าก็คือผ้า” ส่วน “พระบฏก็คือพระบฏ” ผ้าที่ใช้แห่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันรวมถึงแต่โบราณกาลจึงไม่ใช่ผ้าพระบฏ หากแต่เป็นผ้าพื้นสีเดียว เช่น แดง ชมพูและเหลือง ส่วนเรื่องผ้าพระบฏนี้ เห็นจะยังคงเป็นเครื่องแขวนตามขนบเดิม แล้วมาล้อตำนานลงผืนผ้ายาวเสียคราวใดคราวหนึ่งภายหลัง เหตุผลประกอบคือไม่พบหลักฐานว่ามีผ้าพระบฏโบราณผืนยาวในเมืองนครศรีธรรมราชที่เคยใช้ห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ปรากฏอยู่ ณ ที่ใด

๓. ต้อง “ขึ้น” กันตรงไหน ?

คำกิริยาคำนี้เห็นภาพชัดว่าเป็นอาการที่จะต้องเคลื่อนตัวหรือวัตถุไปในตำแหน่งที่สูงกว่าปกติธรรมดา และเป็นคำตั้งต้นของข้อพิรุธที่ทำให้ค้นคว้าจนได้ความตามปรากฏในจดหมายเหตุระยะทางพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ของสักขี ตั้งแต่วันที่ ๔ มิถุนายน ถึงวันที่ ๕ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ ว่า “…พระราชทานผ้าม้วนสีชมพูแก่เสวกเอก พระยาเทพาภรณ์ เจ้ากรมภูษามาลา นำไปห่มถวายห่มพระธาตุ คือคลุมรอบหน้ากระดานบัลลังก์แห่งองค์พระมหาธาตุเหนือองค์ระฆังภายใต้ปล้องไฉน…” และ “…รถเดินช้า ๆ พอสบช่องโปร่งแลเห็นพระมหาธาตุได้ถนัดถึงองค์ระฆัง ซึ่งยังคงมีผ้าแดงห่มอยู่…”

จะเห็นได้จาก ๒ ประโยคที่ยกมาย่อหน้าก่อนนี้ว่า นอกจากได้ภาพของลักษณะการห่มพระธาตุว่าห่มคลุมรอบหน้ากระดานบัลลังก์และส่วนที่เป็นองค์ระฆังแล้ว ยังเห็นถึงการกำหนดตำแหน่งตามสถานะของผู้อุทิศถวายไว้ด้วยอย่างชัดเจน กล่าวโดยสรุปคือ ผ้าพระราชทานห่มพระบรมธาตุ ใช้ผ้าพื้นสีชมพูห่มที่หน้ากระดานบังลังก์สี่เหลี่ยม ส่วน ผ้าของชาวเมืองนครนั้น ใช้ผ้าพื้นสีแดงห่มคลุมองค์ระฆังทั้งองค์

๔. ที่เคยเข้าใจกันว่า “ธาตุ” นั้นหมายถึงอะไร ?

ข้อนี้เป็นปุจฉาอย่างง่ายที่คำตอบเป็นภาพความเข้าใจที่เป็นชุดความทรงจำเดิมของชาวเมือง นั่นคือเมื่อกล่าวถึงพระธาตุ ก็จะมีจิตโน้มไปคิดถึงแต่ “องค์พระบรมธาตุเจดีย์” อยู่แล้วเป็นปรกติ

เกี่ยวกับภาพ : พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) ครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ไปถวายผ้าห่มองค์พระบรมธาตุ ณ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๒๕ ในการนี้ทรงทอดผ้าพื้นสีเหลืองตามวันพระราชสมภพถวาย ณ บัลลังก์ตามขัติยราชประเพณีแต่โบราณ

ภาพจาก : หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

เพิ่มเติมอ่านต่อในสารนครศรีธรรมราช
ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓