ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : บัณฑิต สุทธมุสิก
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

ที่มาของเมืองสิบสองนักษัตรผู้เขียนเชื่อว่าเดิมมาจากตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเป็นเอกสารที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรผู้เขียนเข้าใจว่าบันทึกในสมัยอยุธยาสันนิษฐานว่าแต่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและบอกปีปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองชื่อพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับเลขที่ ๓๖ จ หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช) อันเป็นปฐมบทของการเกิดเมืองสิบสองนักษัตร ข้อความต่อไปนี้ผู้เขียนขอยกเอาเนื้อหารวมทั้งอักษรที่มีอยู่ในตำนานมาลงเอาไว้ทุกตัวอักษรเพื่อรักษาเนื้อหาและวิธีการเขียนตักอักษรที่มีอยู่ในยุคสมัยนั้นมาให้เป็นทุกคำทุกตัวอักษร ดังต่อไปนี้

ครั้งนั้นยังมีพระยาธรรมาโศกราชองค์หนึ่ง เป็นเจ้าเมืองมัทยมประเทศ มีพระอัครมเหสีชื่อนางสันทมิตรา ให้นักเทษถือราชสารมาถึงพระญาศรีธรรมาโศกราช ในราชสารนั้นว่า พระญาศรีธรรมโศกราชก่อพระมหาธาตุ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ แต่ยังมิได้พระบรมธาตุไปบรรจุ รู้ความไปว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช ก่อพระมหาธาตุองค์หนึ่งสูง ๓๗ วา แล้วยกพระบรมธาตุขึ้นประจุ พระบรมธาตุ แลเมืองมัทยมประเทศ พระธาตุ ๘๔,๐๐๐ ยังหาได้พระบรมธาตุไปประจุไม่ จะขอแบ่งพระธาตุไปประจุ

ครั้นแจ้งในราชสารนั้นแล้ว พระญาก็ให้นักเทษสั่งสอน บาคูทั้ง ๔ คนเล่าเรียนสวดมนตร์ไหว้พระตามพระนักเทษเรียนมา แลปฤกษาว่าจะคิดฉันใด ที่จะรู้แห่งพระธาตุ จะเอาขึ้นจะได้แจกประจุพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ พระญาให้เอาทองเท่าลูกฟักผูกคอม้าป่าวทั่วทั้งเมือง

ยังมีผู้เถ้าคนหนึ่งอายุได้ ๑๒๐ ปี ว่ารู้แห่ง อำมาตย์เอาทองส่งให้แล้วเกาะตัวผู้เฒ่านั้นมาทูลแก่พระญา ๆ ก็ถาม ผู้เถ้ากราบทูลว่าเมื่อตัวข้าพเจ้ายังน้อย บิดาของข้าพเจ้าได้เอาดอกไม้ไปถวายที่นั้น พระญาก็ให้นำไปขุดลง พบพระเจดีย์มีภาพยนต์รักษาอยู่เอาขึ้นมิได้ พระญาก็ให้นำเอาทองเท่าลูกฟักแขวนคอม้า ไปป่าวหาผู้รู้แก้ภาพยนตร์

ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่งชื่อนายจันที แลบิดานั้นไปเรียนศิลปวิชชาเมืองโรมพิไสย ครั้นได้แล้ว เอาน้ำหมึกไว้ ที่ลำขาแล้วกลับมาพระอาจาริย์ใช้ภาพยนต์มาตัดศีศะเอาไป อักษรนั้นข้าพเจ้าเขียนเรียนไว้ อำมาตย์ก็เอาทองให้แล้วพาตัวบุรุษมา พระญาก็ให้แก้ภาพยนตร์จึงร้อนขึ้นไปถึง พระอินทร์ ๆ ก็ใช้พระวิศณุกรรมมายกพระธาตุขึ้น พระญาก็ปันไปเมืองมัทยมประเทศตามมีตรามาขอนั้น จึงพระวิษณุกรรมช่วยพระญาก่อพระเจดีย์ประจุพระบรมธาตุนั้นไว้ แล้วตั้งเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นแก่เมืองนครศรีธรรมราช

ปีชวดตั้งเมืองสายถือตราหนู
ปีฉลูเมืองตานีถือตราโค
ปีขาลเมืองกลันตันถือตราเสือ
ปีเถาะเมืองปาหังถือตรากระต่าย
ปีมะโรงเมืองไทรถือตรางูใหญ่
ปีมะเส็งเมืองพัทลุงถือตรางูเล็ก
ปีมะเมียเมืองตรังถือตราม้า
ปีมะแมเมืองชุมพรถือตราแพะ
ปีวอกเมืองปันทายสมอถือตราลิง
ปีระกาเมืองอุลาถือตราไก่
ปีจอเมืองตะกั่วป่าถือตราสุนัข
ปีกุนเมืองกระถือตราหมู

ในกาลต่อมานักประวัติศาสตร์มีการโต้แย้งกัน ๒ เมือง คือ เมืองปันทายสมอกับเมืองอุเลา (สะอุเลา) บางท่านกล่าวว่าเมืองปันทายสมอน่าจะเป็นเมืองกระบี่ ด้วยคำว่ากระบี่หมายถึงลิงจากเรื่องรามเกียรติ ขุนกระบี่หมายถึงหนุมาน บางท่านก็กล่าวว่าน่าจะไม่ใช่ แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนมีความเชื่อว่า ปันทายสมอ เป็นชื่อภาษาเขมร สมอ มาจากภาษเขมรว่า ถมอ สนธิกับคำว่า ปันทาย เป็นภาษาเขมร หมายถึงท่าเรือ เมื่อเอา ๒ คำมารวมกันเป็น ปันทายสมอ หมายถึง ท่าเรือหิน ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่ ๓๖ จ. หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช) เขียนว่า “ชาวส่วยอยู่ในเมืองบันไทสมอคือเมืองไชยา” ผิดกับที่คำว่า บันทาย เป็นปันไท ทั้งสองน่าจะมีความหมายเดียวกัน ปรากฏในหน้าพับที่ ๕๗ และ ๕๘ หนังสือบุด ดังนั้นเมืองปันทายสมอ ๑ ใน ๑๒ เมืองนักษัตร คือ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ด้วยในอดีตเมืองนี้มีชื่อว่า “ครหิ” เคยอยู่ในอำนาจของเขมรมาก่อน ดังนั้นตัวอักษรเขมรจึงปรากฏอยู่ในดินแดน นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ดังศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ วัดหัวเวียง อำเภอไชยาและคนในสมัยต่อ ๆ มาก็ยังคงเรียนอักษรขอมมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยใช้เป็นอักษรเขียนยันต์ตัวอักษร หัวใจคำสอนในทางพระพุทธศาสนาลงในโลหะและแผ่นผ้า

เมืองอุเลาหรือสะอุเลา นักประวัติศาสตร์ยังมีความเข้าใจที่โต้แย้งกันบางท่านบอกว่าน่าจะเป็นจังหวัดสงขลา แต่จากหลักฐานในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช) หน้าพับที่ ๖๓ และ ๖๔ เขียนว่า “เมืองสะอุเลาคือเมืองท่าทอง” โดยมีพระท่าทองเป็นเจ้าเมือง มีนามเดิมว่า “ออกพระวิสูตรสงครามรามภักดี”

ดังนั้นข้อสงสัยทั้ง ๒ เมือง คือเมืองปันทายสมอและเมืองสะอุเลา ตามที่เคยสงสัยกันในอดีตคงกระจ่างขึ้นจากพงศวดารเมืองนครศรีธรรมราช (ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นเอกสารที่มีการบันทึกในสมัยอยุธยาอยู่ระหว่างสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง-สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนเมืองอื่น ๆ อีกสิบเมืองก็มีความเข้าใจตรงกัน ตามปรากฏชื่อไว้อย่างชัดเจนตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายว่า นักษัตร เป็นนามบอกชื่อรอบเวลา กำหนด ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ เรียกว่า ๑๒ นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ คือ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-สุนัข กุน-หมู อีกความหมายนักษัตร เป็นนามหมายถึงดาว, ดาวฤกษ์ มี ๒๗ หมู่

ในที่นี้จะพูดถึง นักษัตร ที่กำหนดเวลา ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ เรียกว่า ๑๒ นักษัตร ถ้าท่านได้ไปเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชหรือเคยได้อ่านสารนครศรีธรรมราชจะเห็นตราพระบรมธาตุเจดีย์อยู่ภายในประภารัศมีภายนอกล้อมรอบด้วยรูปสัตว์ ๑๒ นักษัตร อยู่บนด้านหน้า “นครศรีธรรมราช” มีคำว่า “สาร” อยู่ด้านล่างตรา ๑๒ นักษัตร หรือจะเห็นตรานี้ปรากฏอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความหมายถึงบ้านเมืองที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลาง มีเมือง ๑๒ เมือง ล้อมรอบที่ได้ช่วยกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา มาเป็นเวลานับได้ไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ปี แต่ในปัจจุบันนี้การปกครองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรความศรัทธาของชาวเมืองต่าง ๆ ก็ยังศรัทธาต่อ พระบรมธาตุเจดีย์มาโดยตลอด ดังนั้นตรา ๑๒ นักษัตร จึงยังปรากฏอยู่ให้เห็นประจักษ์ นอกจากนี้นครศรีธรรมราช โดยนักประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรม เครื่องประดับ เครื่องใช้ เช่น แหวน, กำไล, สร้อยคอ, สร้อยข้อมือ, ขันน้ำ, ขันใส่ข้าวตักบาตร โดยการทำเป็นเครื่องถม ทั้ง ถมดำและถมทอง จะมีรูปตรา ๑๒ นักษัตร ทำหัวเข็มขัดเป็นรูปสัตว์นามปีให้กับผู้เกิดปีนั้น ๆ เป็นต้น ได้ซื้อไปเป็นที่ระลึก

เรื่องสิบสองนักษัตรไม่ใช่จะมีในเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังมีปรากฏในจังหวัดต่าง ๆ และประเทศต่าง ๆ ด้วย

ประเทศที่เรียกชื่อปีเป็น ๑๒ นักษัตร มีอยู่หลายประเทศคือ ธิเบต ญี่ปุ่น จีน และในแหลมอินโดจีนคือ ไทย เขมร มอญ ญวน ยกเว้นพม่า ส่วนในอียิปต์มีอยู่บ้างที่เรียกชื่อปีเป็นสัตว์ และมีอยู่ในจารึกภาษาโบราณของตุรกีชาติแรกที่ใช้ชื่อปีเป็นชื่อสัตว์ สันนิษฐานว่ากำเนิดมาจากตุรกีซึ่งเป็นตาดสาขาหนึ่ง จีนคงได้มาจากตาดพระเจนจีน อักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) กล่าวไว้ในหนังสือสมาคมวรรณคดีปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ เรื่องการวินิจฉัย ๑๒ นักษัตร ว่ามีในสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น (พ.ศ. ๕๖๘ – ๗๖๓) ว่ามีปราชญ์จีนชื่อ เฮ่งซง แต่งหนังสือชื่อ ลุ่นหวง เรื่องหนึ่ง ในหนังสือนั้นตอนหนึ่งว่าด้วย ๑๒ นักษัตร แต่ทั้งนี้มิใช่นักปราชญ์ผู้นั้นเป็นผู้คิดขึ้น และไม่ได้บอกว่านักปราชญ์นั้นได้มาจากไหน มีหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ได้กำหนดชื่อปีเป็นชื่อสัตว์มีเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยราชวงศ์ถัง

ในประเทศญี่ปุ่น ก็มีตำนานเกี่ยวกับ ๑๒ นักษัตร กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน มนุษย์และสัตว์ต่างพากันรีบไปกราบพระบรมศพ สัตว์ที่ไปเฝ้าครั้งนั้น มีวัววิ่งนำหน้าสัตว์อื่น ๆ มีหนูตัวเล็กกว่าสัตว์ทั้งปวง หนูก็ขอเกาะหลังวัวไปด้วย พอใกล้จะถึงหนูก็กระโดดข้ามหัววัวไปถึงเป็นลำดับแรก ส่วนสัตว์อื่น ๆ ไปถึงตามลำดับ ตามหนู คือ วัว เสือ กระต่าย นาค งู ม้า แพะ ลิง ไก่ สุนัข หมู รวม ทั้งหมดได้ ๑๒ ตัว หนูจึงเป็นชื่อแรกของปี ส่วนหมูซึ่งอุ้ยอ้ายไปถึงเป็นลำดับที่สิบสอง จึงกลายมาเป็นปีตัวสุดท้าย

การเรียกปี ๑๒ นักษัตรของไทย ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ใช้ศักราชควบกับปีนักษัตร คือ “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจและใส่ลายสือไทย ลายสือไทยนี้จึงมีเพื่อขุนนั้นใส่ไว้” และมีศิลาจารึกอีกแห่งหนึ่งว่า “๑๒๑๔ ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ปลูกต้นตาลไว้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันหรดารหินตั้งระหว่างกลางไม้ตาลนี้”

สำหรับเรื่อง ๑๒ นักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช ข้าพเจ้าผู้เขียนมีความเชื่อว่า นครศรีธรรมราชมีชาวจีนที่เดินทางมาค้าขาย เข้าสู่เมืองนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ จนถึงบัดนี้ ไม่ต่ำกว่า ๑,๓๐๐ ปี เรื่องราว ๑๒ นักษัตร ที่จีนได้รับจากตุรกีซึ่งเป็นตาดสาขาหนึ่ง ที่จีนได้รับและต่อมาสมัยราชวงศ์ตั้งฮั่น พ.ศ. ๕๖๘-๗๖๓ มีนักปราชญ์ชาวจีนชื่อ เฮ่งซง แต่งหนังสือ “ลุ่นหวง” ในหนังสือนี้มีตอนหนึ่งกล่าวถึง ๑๒ นักษัตร เป็นเรื่องที่มีมาก่อน อีกนัยหนึ่ง นครศรีธรรมราช มีความสัมพันธ์กับชาวมอญ (รามัญ) มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๘๐๐ ปี ชาวมอญเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมประเพณีมากมาย นอกจากนั้นยังรับเอาพระพุทธศาสนามาประจำชนชาติของตน ซึ่งมีร่องรอยปรากฏในนครศรีธรรมราชอยู่มากมาย ด้วยชนชาวมอญมีการพูดถึง ๑๒ นักษัตร ยกเว้น พม่า ทั้งๆ ที่ชนชาวมอญก็มีดินแดนในพม่าปัจจุบัน เมื่อเข้ามาสู่นครศรีธรรมราชก็ได้นำเรื่อง ๑๒ นักษัตร มาใช้เป็นนามปีเช่นเดียวกับสุโขทัย แต่ที่นครศรีธรรมราชน่าจะเกิดก่อนสุโขทัย

แม้ในปัจจุบันนี้ทางราชการจะกำหนดปีด้วยตัวเลขพุทธศักราช แต่ก็จะต้องสืบสานประเพณีที่สำคัญเอาไว้ คือ ประเพณีปีใหม่ของไทยเดิมวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนปีตามจุลศักราช ทั้งหมดนี้เรารับอิทธิพลมาจากมอญ ซึ่งมีนิทาน (ตำนาน) เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์เป็นการนับปี ๑๒ นักษัตรและมีเรื่องราว ปรากฏเกี่ยวกับแห่นางสงกรานต์กล่าวถึง ธรรมบาลกุมาร ตอบปัญหาท้าวกบิลพรหม เรื่องมนุษย์สามราศี กล่าวถึง นางสงกรานต์ ที่ต้องมารับเศียรท้าวกบิลพรหมที่แพ้เดิมพัน การแห่นางสงกรานต์ยังมีปรากฏอยู่ในหลายประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว เขมร และไทยล้วนแต่มีอิทธิพลมาจากมอญ (รามัญ) ซึ่งเป็นชนในแดนดินพม่าในปัจจุบันแต่ก็แปลกที่พม่าไม่ได้มีเรื่อง ๑๒ นักษัตร ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน แต่จะมีปรากฏอยู่ในดินแดนทางตอนเหนือของไทยด้วยเคยอยู่ในการปกครองของพม่ามาก่อนที่จะมาอยู่ภายใต้การปกครองของไทยถึงแม้ชนชาวมอญ จะไม่มีประเทศแต่ชนชาวมอญก็อาศัยอยู่ในสยาม (ไทย) อยู่เกือบทุกภูมิภาค แล้ววัฒนธรรมนี้ก็ยังมีการสืบสานต่ออยู่ใน ลาว เขมร และไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ฯ

สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๘