ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วันเด็กปีนี้ ชวนมาทำความรู้จัก “ไอ้ไข่” ในฐานะ “เด็ก” นครศรีธรรมราช

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอ้ไข่” แต่จะด้วยสถานะใดหรือแง่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะเข้าถึงกันเฉพาะบุคคล

ไอ้ไข่ ในความรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน ถูกอธิบายด้วยหลักคิดของความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้คุณแก่ผู้เซ่นสรวงบูชา ดังคำกล่าวติดหูว่า “ขอได้ ไหว้รับ”

เล่ากันว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กวัด ที่บ้างก็เท้าความไปผนวกกับตำนานหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด โดยเป็นศิษย์ผู้อุปฐากใกล้ชิด แล้วมามีเหตุให้ต้องแยกกัน ณ ตำแหน่งที่ปัจจุบันเป็นวัดเจดีย์ ตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่ภายหลังจะเป็นไป แล้วเหลือแต่สภาพที่รู้จักกันในชื่อ “วิญญาณ” กับอีกแหล่งเชื่อว่า เป็นเด็กวัดที่นั่นมาแต่เดิม ส่วนครึ่งหลังกล่าวพ้องกัน

ในที่นี้ บรรดาอิทธิและปาฏิหาริย์ของไอ้ไข่ ไม่อยู่ในขอบเขตของบทความที่จะทำความเข้าใจไปถึง เพราะสามารถสืบความได้จากโซเชียลมีเดีย กับหาฟังโดยตรงได้จากผู้มีประสบการณ์ร่วม

มุมที่อยากชวนมองคือ “ไอ้ไข่” ในฐานะของการสะท้อนภาพของ “เด็ก” ชาว “นครศรีธรรมราช” อย่างน้อยก็ในทศวรรต ๒๕๒๐

รูปสลักดั้งเดิมของไอ้ไข่ เป็นฝีมือของผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ ผู้ได้นามว่า “เที่ยง หักเหล็ก” มีลักษณะเป็นรูปเด็กผู้ชายไว้จุก ตรงนี้เองเป็นที่มาของข้อสังเกตประการแรกสุดคือเรื่องอายุของไอ้ไข่ ธรรมเนียมการไว้จุกของไทยสำหรับเด็กผู้ชาย มีกำหนดจัดพิธีโกนจุกเมื่ออายุครบ ๑๓ ขวบปี ก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าโดยประมาณว่า ไอ้ไข่เป็นเด็กชายอายุ ๑๐ ขวบ

สิ่งที่เด็กจะได้รับในวันโกนจุกพร้อมกับสถานะวัยรุ่นคือ “ชื่อ” ตรงนี้หมายความว่า “ไอ้ไข่” เป็นสรรพนามเรียกแทนตัวก่อนที่จะมีชื่อทางการ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เมื่อแรกเกิดจนถึงโกนจุก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายจะถูกเรียกแทนด้วยลักษณะตัว อวัยวะ รูปร่าง เช่นว่า ดำ เขียว แดง แห้ง อ้วน สั้น ยาว ตาดำ บ้างก็เรียกตามนิสัยในวัยเด็กเช่น ขี้ร้อง หรือบ้างก็อาศัยของใกล้ตัว ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เรือน แมว ทอง เป็นต้น

ไข่ ก็รวมอยู่ในนี้ ซึ่งเป็นชื่อแทนตัวที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยมเนื่องจากแสดงเพศสภาพของผู้ถูกเรียกได้ชัดเจน กับทั้งอาจมีความสืบเนื่องจากคติเรื่อง “ลึงค์” ตามที่นักมานุษยวิทยาบางท่านพยายามอธิบายความก็เป็นได้ ทั้งนี้ “ไข่” มักจะคู่กับ “นุ้ย” โดยที่นุ้ยก็เป็นชื่อแทนตัวที่ได้รับความนิยมสำหรับใช้เรียกเด็กผู้หญิงก่อนโกนจุกเช่นเดียวกัน

คำว่า “นุ้ย” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษาของนครศรีธรรมราช เป็นคำสำคัญที่มีใช้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างต่ำ แถมยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มักใช้ใน ๒ กรณี กรณีเป็นชื่อตัว อาทิ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยใหญ่” ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ เจ้าจอมมารดา “นุ้ยเล็ก” ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทั้ง ๒ เจ้าจอมมารดานี้ เป็นธิดาในเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) กับเจ้าหญิงชุ่ม พระธิดาในพระเจ้านครศรีธรรมราช

ส่วนอีกกรณีคือการใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ แทนตัวผู้พูดนั้น ยังคงได้ยินจนถึงปัจจุบัน คือ นุ้ยอย่างนั้น นุ้ยอย่างนี้ ดังที่หลายคนก็อาจจะยังคงใช้แทนตัวอยู่ จะพบว่า หลายครั้ง ชื่อเรียกแทนตัวเช่นว่า “นุ้ย” นี้ กลายมาเป็นชื่อตัวไปด้วยโดยปริยาย

ธรรมเนียมการตั้งชื่อเหล่านี้ค่อยคลี่คลายลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น และก็คงคลี่คลายไปพร้อมกับการตั้งพิธีโกนจุกทั้งของเด็กผู้ชายในวัย ๑๓ และเด็กผู้หญิงในวัย ๑๑ (ตามการสัมภาษณ์บุตรสาวขุนพันธรักษ์ราชเดช) ฯ

ติดตามต่อได้ใน สารนครศรีธรรมราช ฉบับเร็ว ๆ นี้