ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : ดิเรก พรตตะเสน
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓

รายละเอียด

ให้ทานไฟ ที่มา ที่ไป และที่เป็นอยู่

คงเป็นที่ยอมรับกันว่า เมืองนครศรีธรรมราชเคยเป็นเมืองเอก และรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาแล้วตั้งแต่โบราณ ซึ่งอาจจะนับกาลย้อนหลังขึ้นไปได้เป็นพันพันปี ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวได้เต็มภาคภูมิว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองต้นกำเนิดขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ของประเทศไทย แม้ทุกวันนี้ ขนบธรรมเนียมและประเพณีบางอย่างในเมืองนคร จะเสื่อมสลาย แต่ก็ไปเป็นที่นิยมอยู่ในจังหวัดอื่น จะเห็นได้จากประเพณีสงกรานต์เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ยังมีขนบธรรมเนียมและประเพณีอื่น ๆ อีกไม่น้อย ที่เมืองนครศรีธรรมราชยังทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในท้องที่อื่นไม่มี หรือเคยมีแต่กลับเสื่อมสลายไป อย่างเช่นการบำเพ็ญกุศลที่เรียกกันว่า “ให้ทานไฟ” ซึ่งจะขอเล่าสู่กันฟังในที่นี้ เป็นต้น

เมืองนครศรีธรรมราชของเรา นักภูมิศาสตร์ท่านแบ่งฤดูกาลออกเป็น ๓ ฤดู คือฤดูแล้ง ฤดูร้อน และฤดูฝน ฤดูหนาวนั้นไม่มี แต่ตามสภาพความเป็นจริง นครศรีธรรมราชก็มีช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงหนึ่ง ที่อากาศหนาว จะหนาวมากหนาวน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศแต่ละปี

ช่วงเวลาที่กล่าวนี้ คำนวณตามจันทรคติจะตกอยู่ในราวปลายเดือนอ้าย ต่อเดือนยี่ ซึ่งเป็นเวลาสิ้นฤดูฝน เริ่มฤดูแล้ง เมื่อถึงช่วงเวลานี้ ลมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดจัดและหอบเอาไอเย็นมาปกคลุมภูมิภาคส่วนนี้ ชาวเมืองรู้สึกหนาวเย็นผิดปกติ บางปีพอทน บางปีก็หนาวเหน็บเสียดลึกเข้าไปในทุกขุมขน แม้จะเป็นไปในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ได้รับความทุกขเวทนาไม่น้อย ยิ่งในท้องถิ่นที่เป็นป่าเขาลำเนาไม้ด้วยแล้ว ถึงกับต้องก่อไฟผิงกันตลอดวันตลอดคืนเลยทีเดียว

เมืองนครศรีธรรมราชได้ชื่อว่าเมืองพระ ชาวเมืองเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ศรัทธา มั่นในพระบวรพุทธศาสนา มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นสรณะ เมื่ออากาศหนาวขึ้น นอกจากเวทนาตัวเองและเพื่อนบ้านแล้ว ยังเวทนาไปถึงพระสงฆ์ผู้สืบพระธรรมจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีเพียงจีวรบาง ๆ ผืนเดียวพันกาย และยังชีพจากอาหารของผู้ให้เพียงสองมื้อด้วย ซึ่งในยามที่อากาศหนาว อาหารเหล่านั้นย่อมเย็นชืดฝืดคอไม่เป็นรส เลยเกิดความคิดอุปฐากภิกษุสงฆ์ให้ได้รับความอบอุ่นจากรัศมีความร้อนของไฟ และให้ได้ฉันอาหารร้อน ๆ กันขึ้น โดยยึดเอาเรื่องราวมีมาในขุททกนิกายชาดกเป็นมูลเหตุ

ชาดกอันเป็นข้ออ้างของชาวนครที่กล่าวถึง มีเรื่องย่อ ๆ ว่า ณ แคว้นสักกะไม่ใกล้ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อโกสิยะอาศัยอยู่ ตามเรื่องว่า ท่านเศรษฐีผู้นี้มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ มีบริวารข้าทาสอเนกอนันต์ สร้างเรือนอาศัยก็สูงถึง ๗ ชั้น และใหญ่โตมโหฬารไม่ผิดกับพระราชวังในกรุงราชคฤห์ ซึ่งดูก็น่าจะมีความสมบูรณ์พูนสุงเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านเศรษฐีเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไปอยู่อย่างหนึ่ง คือความเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวเกินพอดี ไม่ยอมทำบุญต่อสมณะชีพราหมณ์ ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อนบ้าน การเลี้ยงดูบุตร ภรรยา ข้าทาส และแม้แต่ตนเอง ก็เลี้ยงพอยังชีพอยู่เท่านั้น ท่านเศรษฐีจึงมีความวิตก มีความทุกข์กังวลอยู่เป็นนิจ เกี่ยวกับการหามา การเก็บรักษา และการใช้จ่ายทรัพย์สินของตนรวมตลอดถึงต้องทนรับฟังคำค่อนขอดนินทาจากเพื่อนบ้านด้วย

วันหนึ่งท่านเศรษฐีโกสิยะไปธุระในกรุงราชคฤห์กลับมา เห็นเพื่อนบ้านนั่งกินขนมเบื้องอยู่ หน้าแผงลอยละเลงขนมเบื้องขายแห่งหนึ่งใกล้ ๆ บ้านของตนก็นึกอยากกินขนมเบื้องขึ้นมาเป็นกำลัง แต่ดังได้กล่าวแล้ว ท่านเศรษฐีเป็นคนตระหนี่จัด จะแวะซื้อกินหรือ ก็กลัวจะต้องเลี้ยงคนอื่น มิเช่นนั้นจะถูกหาเป็นคนไร้น้ำใจ เพราะเพื่อนบ้านรู้จักกันทั้งนั้น ที่แวดล้อมอยู่รอบแผงลอยขายขนม เฉพาะอย่างยิ่ง พราหมณ์และขอทานก็เที่ยวขออยู่ทั่วละแวก ท่านเศรษฐีจึงได้แต่อัดอั้นความอยากไว้และรีบกลับบ้าน

แต่ความอยากกินขนมเบื้องของท่านเศรษฐีในชาดกเรื่องนี้ออกจะรุนแรงมาก เพราะแต่วันนั้นท่านเศรษฐีเริ่มผ่ายผอมลง ตามเรื่องว่า เนื่องจากเหตุท่านเศรษฐีคิดหมกมุ่นอยู่ว่า จะทำอย่างไร จึงจะได้กินขนมเบื้องให้สมความอยากโดยไม่ต้องเสียทรัพย์ หรือจะเสียก็ให้เสียแต่น้อย ซึ่งท่านเศรษฐีคิดไม่ตกจนแล้วจนรอด ในที่สุดก็ถึงกับนอนซมบนเตียง

ข้างภรรยา เมื่อเห็นเศรษฐีผู้สามีมีอันเป็นก็เข้าไปปลอบโยนถาม ครั้นได้ความก็รีบอาสาจะทำให้กิน ในชั้นแรกท่านเศรษฐีอิดเอื้อน เพราะเกรงจะเป็นที่เอิกเกริกต้องเลี้ยงดูผู้อื่นเป็นอันสิ้นเปลือง อย่างน้อยก็ภรรยาและบุตรของตนนั้นเอง ต่อเมื่อภรรยารับปากจะขึ้นไปละเลงขนมเบื้องสองต่อสองกับท่านเศรษฐีบนชั้นเจ็ด และทำเฉพาะท่านเศรษฐีบริโภคเท่านั้น ตนเองจะไม่แตกต้อง ท่านเศรษฐีจึงยินยอม การละเลงขนมเบื้องจึงได้เริ่มขึ้นบนชั้นเจ็ดโดยปกปิดกระมิดกระเมี้ยนกันเป็นความลับสุดยอด

เวลานั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระทับอยู่ ณ เชตวันวิหาร พระองค์ทรงทราบด้วยฌาณสมาบัติถึงความตระหนี่ถี่เหนียวและพฤติการณ์อันไม่ชอบต่าง ๆ ของท่านเศรษฐีเป็นอย่างดี จึงได้ทรงถือเอาโอกาสนั้นตรัสสั่งให้พระโมคคัลลานมหาเถระไปทรมานท่านเศรษฐีให้ละนิสัยตระหนี่เสีย

พระโมคคัลลานมหาเถระรับพระดำรัสสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็สำแดงฤทธิ์เหาะไปยังแคว้นสักกะทันที ไปถึงก็ลอยตัวในท่ายืนสำรวมอยู่ตรงหน้าต่างชั้นเจ็ดของท่านเศรษฐีโกสิยะ พอท่านเศรษฐีเห็น ท่านเศรษฐีก็กล่าวกับภรรยากระทบพระมหาเถระด้วยความขุ่นเคืองว่า

“ที่ข้าขึ้นมาทอดขนมเบื้องบนชั้นเจ็ดก็เพราะจะหลีกเร้นคนมักขอชนิดนี้แหละ แต่ดูเถิดสมณะรูปนี้ยังสำแดงฤทธิ์ลอยขึ้นมายืนอยู่ตรงหน้าต่างชั้นเจ็ดจนได้”

ท่านเศรษฐียิ่งขัดเคืองหนักขึ้น เมื่อเห็นว่า ตนกระทบเจ็บแสบถึงปานนั้นแล้ว พระโมคคัลลานมหาเถระยังยืนสำรวมนิ่งอยู่ ณ ที่เดิม ไม่ปรากฏทีท่าว่าจะยอมจากไป ท่านเศรษฐีจึงตกปากไล่โดยไม่ไว้หน้า

“สมณะ จงไปเสียเถิด ถึงท่านจะยืนบนอากาศได้ เดินจงกรมบนอากาศได้ ข้าก็ไม่ให้ขนมของข้า”

ฝ่ายพระโมคคัลลานมหาเถระ เมื่อได้ยินเศรษฐีว่าดังนั้น ก็เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้าวเท้าจงกรมไปมาบนอากาศ แต่ท่านเศรษฐีก็ยังกล่าวแก่พระเถระว่า

“ถึงท่านจงกรมไปมาบนอากาศ หรือนั่งขัดสมาธิบนอากาศได้ ข้าก็ไม่ให้ขนมของข้า”

ครั้นพระโมคคัลลานมหาเถระนั่งขัดสมาธิบนอากาศ ท่านเศรษฐีก็ว่าอีกว่า

“ถึงท่านจะนั่งขัดสมาธิบนอากาศได้ หรือจะก้าวเท้ามายืนบนขอบหน้าต่าง ข้าก็ไม่ให้ขนมของข้าดอก”

พระมหาเถระได้ยินก็ลอยเข้าไปยืนที่หน้าต่าง และบังเอิญเหลือเกินที่หน้าต่างบานนั้นเป็นทางถ่ายเททางเดียวของควันไฟจากเตาขนมเบื้องบนชั้นเจ็ดนั้น เมื่อร่างของท่านพระมหาเถระไปยินบังอยู่ ทางถ่ายเทของควันไฟก็แคบลง ควันจึงตระหลบอบอวนขึ้นในห้อง แต่ถึงกระนั้นท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมคลายทิฐิ

“ถึงท่านจะยืนที่หน้าต่าง และสามารถจะปิดควันไฟไม่ให้เล็ดลอดออกจากห้องได้ ก็อย่างหวังเลยว่า จะได้ขนมของข้า”

เมื่อพระโมคคัลลานมหาเถระเห็นว่าท่านเศรษฐียังดื้อดึง ก็ปิดทางถ่ายเทของควันไฟ บังคับด้วยอิทธิฤทธิ์ให้ควันอบอวนอยู่แต่ในห้องตามทำท้าของท่านเศรษฐี ควันจากเตาขนมเบื้องในห้องหนาทึบเข้าทุกที ทำให้สองสามีภรรยาแสบตาแสบจมูกถึงกับน้ำตาไหลพรากและหอบสำลักจนตัวโยน แต่ท่านเศรษฐีก็ยังหาละทิฐิไม่ ด้วยความฉุนโกรธเกือบจะพลั้งปากท้าทายให้พระโมคคัลลานบันดาลไฟขึ้นโหมห้องชั้นเจ็ดอยู่แล้วทีเดียว แต่ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่ามหาเถระผู้นั้นมีฤทธิ์มาก กลัวไฟจะไหม้ขึ้นจริง ๆ บ้านต้องพินาศฉิบหายหมดและคิดได้ต่อไปว่า สมณะองค์นี้มีความตั้งใจมั่น จะไล่โดยวิธีไหนก็เห็นจะไม่ยอมไปให้พ้นความรำคาญแน่ เพื่อซื้อความรำคาญ ท่านเศรษฐีจึงตัดใจสั่งภรรยาให้ใช้แป้งหยดหนึ่งละเลงขนมเบื้องเป็นแผ่นเล็ก ๆ บริจาคไป

มหัศจรรย์เห็นทันตา แป้งช้อนนิด ๆ ช้อนแล้วช้อนเล่าที่เจตนาหยดลงในกระทะ เพื่อละเลงเป็นขนมเบื้องแผ่นเล็ก ๆ สักแผ่นหนึ่งถวายพระเถระ มันไม่เล็กดังใจปรารถนาเสียเลย ตรงกันข้าม แป้งยิ่งน้อยเท่าใด แผ่นขนมเบื้องยิ่งใหญ่โตมโหฬารขึ้นเท่านั้น ท่านเศรษฐีทดลองหยดแป้งด้วยตนเองก็แล้ว แผ่นขนมเบื้องยังขยายใหญ่อยู่นั้นเอง ท่านเศรษฐีจึงต้องตัดใจหักความเสียดายอีกครั้ง สั่งให้ภรรยาหยิบขนมเบื้องถวายพระมหาเถระไปแผ่นหนึ่ง และแล้วก็เกิดมหัศจรรย์อีก

ภรรยาท่านเศรษฐีบรรจงหยิบขนมเบื้องที่ละเลงสุกแล้วเพียงแผ่นเดียวแท้ ๆ ขนมเบื้องที่สุกเรียงรายอยู่ในถาดหลายสิบแผ่นกลับติดต่อเนื่องขึ้นมาทั้งหมด จะเพียรเด็ดออกอย่างไรก็ไม่หลุดออก แม้สามีภรรยาช่วยกันดึงคนละข้างจนเหงื่อโชกก็ไม่หลุด ควันหรือก็อวลจนลืมตาไม่ขึ้น ในที่สุดก็เป็นคำรบสาม ที่ท่านเศรษฐีต้องตัดใจหักความเสียดาย ถวายขนมเบื้องแด่พระโมคคัลลานมหาเถระไปทั้งหมด

พระโมคคัลลานมหาเถระหาได้รับขนมเบื้องนั้นไม่ แต่พอท่านเศรษฐีกำหนดใจแสดงออกถึงการให้ ควันไฟก็สลายตัวให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นแล้วพระมหาเถระได้แสดงธรรมแก่สองสามีภรรยา ชี้แจงอานิสงส์ของการให้ ซึ่งจะยังผลให้บังเกิดความสว่างไสวแก่ชีวิตเหมือนจันทร์เต็มดวงในท้องฟ้า

สองสามีภรรยาได้ฟังก็เลื่อมใส นิมนต์พระโมคคัลลานให้เข้าไปกระทำภัตกิจในห้อง แต่พระโมคคัลลานบอกแก่เศรษฐีว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับคอยเสวยขนมเบื้องอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร พรั่งพร้อมด้วยพระภิกษุอื่นอีก ๕๐๐ รูป ถ้าท่านเศรษฐีเลื่อมใสศรัทธาก็ขอให้ไปละเลงถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระเชตวันวิหารนั้นเถิด

เศรษฐีและภรรยาจึงขนเตา ขนกระทะและแป้งขนมเบื้องเท่าที่เตรียมไว้สำหรับตนบริโภคคนเดียวนั้นไปละเลงถวายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสาวก ๕๐๐ รูป ณ พระเชตวันวิหารด้วยประการฉะนี้ และปรากฏเป็นอภินิหารอีกว่า แป้งเท่าที่มีนั้น ละเลงไม่รู้จักหมดสิ้น จนต้องเททิ้งไป ส่วนตัวท่านเศรษฐีและภริยา เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดปิติอิ่มเอิบในการบริจาคทานและบรรลุโสดาปัตติผลไปในที่สุด

จากเค้าชาดกเรื่องนี้เอง ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงนัดหมายกันไปตั้งเตาเผาหม้อเผากระทะใกล้ ๆ บ้าน ทำขนมเลี้ยงพระกันในตอนเช้าตรู่ของวันที่มีอากาศหนาว วันใดวันหนึ่งแล้วแต่จะกำหนดในระหว่าเดือนอ้ายต่อเดือนยี่ดังกล่าวแล้วข้างต้น แล้วเกิดเป็นประเพณีสืบต่อมาทุกปี

แรก ๆ ก็คงละเลงขนมเบื้องตรงตามชาดก ซึ่งน่าจะเรียก “สารทขนมเบื้อง” ให้เข้าทำนองเดียวกัน “สารทขนมอี๋” ของจีน เพราะสารทขนมทั้งนี้ผิดกันก็แต่ขนมเบื้องไทยทำถวายพระ ขนมอี๋จีนทำถวายเจ้าเท่านั้น

ปรากฏว่า การเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ด้วยขนมเบื้องในฤดูหนาว พระมหากษัตริย์ไทยของเราสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ๆ ก็ทรงถือเป็นพระราชประเพณีที่จะต้องทรงบำเพ็ญเป็นประจำทุกปี ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“…กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ว่า เมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจ เป็นวันหยุดจะกลับขึ้นเหนือ อยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ราศีธนู เป็นถึงกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องไม่กำหนดแน่ว่ากี่ค่ำวันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ไม่ได้มีการสวดมนต์ก่อนอย่างพระราชพิธีอันใดกำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ ๘๐ รูปฉันในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยขนมเบื้องนั้น เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนางเจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ นับเป็นอย่างตรุษคราวหนึ่ง และเฉพาะต้องมีกุ้งมีมันมากจึงเป็นเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง แต่การเลี้ยงขนมเบื้องในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จออกมาหลายปีแล้วค่อนอยู่ข้างจะมืด ๆ…”

ในวาระที่ดวงอาทิตย์ปัดลงใต้สุดจะกลับขึ้นเหนือที่พระราชนิพนธ์ไว้ว่าอยู่ในราศีธนูนั้น คือกาลเวลาระหว่างเดือนธันวาคมตามสุริยคติ ทางจันทรคติก็ราวเดือนอ้ายต่อเดือนยี่ดังกล่าวตอนต้น ในระยะนี้ทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ อยู่ในฤดูหนาว ส่วนทางภาคใต้ พอสิ้นฝนเริ่มฤดูแล้ง อากาศตอนต้นฤดูหนาวมากบ้างน้อยบ้างสุดแต่จะเอาเพทเป็นปี ๆ และเมื่อเริ่มเป็นประเพณีนิยมขึ้นแล้วก็เลยมีเป็นเทศกาลประจำปีไม่เลือกอากาศไป

ดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเจริญรุ่งโรจน์ด้วยพระพุทธศาสนา ประเพณีทำบุญให้กาลต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาจึงกำเนิดตามประดุจเงา และปรากฏชัดว่ามีกำเนิดก่อนถิ่นอื่นอีกด้วย ซึ่งกรุงสุโขทัยก็ยังอัญเชิญพระภิกษุและปราชญ์ครูเมืองนครไปสืบพระพุทธศาสนาและสืบประเพณี ดังปรากฏในศิลาจารึกเป็นที่ทราบกันทั่วไป ดังนั้นการเลี้ยงขนมเบื้องพระภิกษุที่กล่าวในพระราชนิพนธ์ จึงน่าจะได้ต้นเค้าไปจากเมืองนครศรีธรรมราชของเรา ประเพณีนี้คงนิยมกันตั้งแต่ยุคสุโขทัย และแพร่หลายถึงยุคกรุงศรีอยุธยา จนมาเสื่อมลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยุครัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ว่าพระองค์ไม่ได้เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้องพระภิกษุหลายปีแล้ว และเท่าที่มีในยุคนั้น ก็คงมีเป็นพระราชประเพณีบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างหนึ่งในพระราชสำนัก ไม่ปรากฏว่าชาวบ้านทั่วไปศรัทธาไปตั้งเตาเผากระทะละเลงกันที่วัดเหมือนทางนครศรีธรรมราช ซึ่งชาวเมืองยังมีศรัทธาต่อประเพณีนี้มีทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประเพณีซึ่งควรเรียก “สารทขนมเบื้อง” ที่เมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้กลายเป็น “สารทขนมนานา” ไปแล้วในปัจจุบัน และเรียกกันในภาษาพื้นบ้านว่า ทำบุญ “ให้ทานไฟ” เป็นการเรียกที่ทิ้งเค้าเดิม ทำเอางง ซึ่งนานไป อาจสืบสาวที่มาไม่พบ เหมือนประเพณีอีกหลายอย่างของเมืองนคร ที่เป็นเงาทึบอยู่ในเวลานี้

ผู้เขียนสืบถามพระภิกษุผู้สูงอายุและผู้เฒ่าผู้แก่ชาวพุทธของเมืองนครหลายท่าน ได้ความว่า การเรียก “ให้ทานไฟ” นั้น เรียกมุ่งเอาการจุดไฟให้ความอบอุ่นในยามหนาวแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นหลัก เป็นการเรียกที่เข้าถึงเจตนาโดยแท้ เพราะถึงแม้จะยึดเค้าการทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้าตามเรื่องในชาดก แต่ชาวเมืองนครก็มากำหนดทำเอาในกาลที่พระภิกษุเผชิญกับความหนาวเหน็บของอากาศ โดยเจตนาจะให้พระภิกษุได้รับความอบอุ่นจากไฟ ได้รับความอบอุ่นจากขนมและอาหารร้อน ๆ และมากลายเป็นไม่เฉพาะขนมเบื้องในเวลาต่อมา ที่กลายก็เนื่องจากความคิดที่ว่า การถวายเฉพาะขนมเบื้องจำเจแด่พระภิกษุนั้น อกท่านอกเราเหมือนกัน ย่อมมีความเบื่อหน่ายจึงได้สรรขนมขึ้นหลาย ๆ ชนิดอย่างที่พบเห็นเวลานี้ นอกจากขนมเบื้องที่เรียกกันว่าขนมเบื้องญวน ซึ่งละเลงด้วยแป้งข้าวเจ้าใส่ขมิ้นให้เหลือง ๆ มีไส้ประกอบด้วยกุ้งเป็นหลัก ระคนปนไปด้วยหัวผักกาดเค็ม มะพร้าว ถั่วงอกและอื่น ๆ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนที่ยกมาอ้างข้างต้นแล้ว ยังมีขนมเบื้องอย่างของชาวนครที่เรียกว่า “ขนมกรอก” ซึ่งใช้แป้งข้าวเจ้าคนด้วยน้ำกะทิ ที่เคี่ยวพอแตกมัน ผสมน้ำตาล เกลือ และไข่ลงกวนให้เข้ากัน แล้วละเลงสุกก็กินได้ โดยไม่ต้องใส่ไส้ ขนมที่ว่านี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ ว่ามันคือขนมเบื้องตามต้นตำรับเดิมของอินเดียสมัยพุทธกาล

นอกจากจำพวกที่กล่าว ยังมีขนมครก ขนมกล้วยแขก ขนมจู้จุน ขนมปะดาแขก ปะดาไทย ข้าวเหนียวทอด และอื่น ๆ อีกหลายต่อหลายอย่าง ล้วนเป็นขนมพื้นเมืองมีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมือง และทำให้สุกโดยทอดบ้าง ต้มบ้าง ด้วยไฟที่ติดขึ้นโดยฉับพลันทันใดทั้งสิ้น

พิธีทำบุญให้ทานไฟ ไม่มีการสวดมนต์ก่อน เช่นเดียวกับที่กล่าวในพระราชนิพนธ์ เมื่อกำหนดวันนัดหมายกันแน่นอนแล้ว ทายกทายกาก็จัดสรรตกแต่งส่วนประกอบของขนมแต่ละชนิดเตรียมไว้ เช้าตรู่ก็ขนไปวัด แล้วตั้งเตาติดไฟทำกันเดี๋ยวนั้นโดยไม่ชักช้า ส่วนมากก็ใช้เป็นที่ฉัน เพื่อให้ความร้อนจากไฟแผ่กระจายไปให้ความอบอุ่นถึงพระภิกษุด้วย แต่บางแห่งในบางปีที่อากาศหนาวจัด ทายกทายิกาจะก่อไฟกองใหญ่ขึ้นกลางลานวัดปูลาดอาสนะให้พระนั่งขบฉันรอบ ๆ กอบไฟก็มี ทั้งนี้ จะต้องดูแลระมัดระวังไฟกันอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้มันลุกโพลงอยู่เสมอ ถ้าเกิดดับจะมีควันหนาทึบพลุ่งกระจัดจายเข้าไปรมพระภิกษุถึงสำลัก เป็นการทำบุญกลับได้บาปทีเดียว

เมื่อพระภิกษุมาสู่ที่ฉันครบถ้วน ทายกทายกกาก็ประเคนขนมที่ทำเสร็จร้อน ๆ นั้น เข้าไปซึ่งความมากชนิดของขนมและมากทายกทายิกาผู้ศรัทธาจะทำให้พระภิกษุอิ่มแปล้ไปทุกรูป ไม่ต้องฉันอาหารหนักกันเทียวละ สำหรับเช้าที่มีการทำบุญให้ทานไฟนั้น แต่บางแห่งก็มีการถวายข้าวต้มให้พระภิกษุรองท้องก่อน แล้วจึงตามด้วยขนมนานาชนิดเหล่านั้น

ครั้นพระภิกษุสำเร็จภัตกิจแล้ว ท่านก็ยถาสัพพีเป็นเสร็จพิธีให้ทานไฟกันเพียงนั้น ต่อจากนั้นก็เลี้ยงคนวัดคนบ้านตามจารีตของชาวพุทธเมืองนครทั่วไป

การทำบุญให้ทานไฟนิยมทำตามวัดและกำหนดเอาเวลาเช้าตรู่ของวันอากาศหนาว ขนมหรือบางแห่งมีข้าวต้มด้วยนั้นจึงเป็นอาหารเช้าของพระภิกษุสงฆ์ แต่ในบางแห่งและบางปี ในวาระเดียวกันนี้ ก็มีการเลี้ยงเพลโดยนัดหมายทายกทายิกา นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปทำบุญให้ทานไฟกันในที่อื่น ๆ ที่เห็นสมควรก็มี ดังเช่นที่สมัยพระเดชพระคุณ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) เจ้าคุณท่าโพธิ์ยังมีชีวิตอยู่ ทายกทายิกาได้นิมนต์ท่านและพระภิกษุจากวัดต่าง ๆ ไปชุมนุมที่สวนป่า ทายกทายิกาขนสัมภาระไปตั้งเตาติดไฟประกอบอาหารคาวหวานกันที่นั่นประเคนเลี้ยงเพลพระภิกษุสด ๆ ร้อน ๆ เป็นการเปลี่ยนรส เปลี่ยนบรรยากาศกันบ่อย ๆ พอพระเดชพระคุณเจ้าคุณวัดท่าโพธิ์สิ้นบุญ และสวนป่า อันเป็นป่าละเมาะเตี้ยๆ สะอาดงดงามน้ำท่าบริบูรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม “สวนราชฤดี” เปลี่ยนแปลงไป การให้ทานไฟแบบนี้ก็หมดไปด้วย ยังคงมีแต่ทำกันตามวัดถวายเช้าเพียงอย่างเดียวสืบเนื่องมา

ในรอบเดือนที่เพิ่งผ่านมา เมืองนครของเราอยู่ในกาลประกอบพิธีบุญให้ทานไฟที่กล่าวนี้ ท่านที่ยังไม่ลืมวัดคงจะได้เห็น เพราะปรากฏว่ามีทำกันแทบทุกวัดอย่างเอิกเกริกและคับคั่ง

จากสารนครศรีธรรมราช
ฉบับที่ ๑๒ ปีที่ ๑ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๔