ที่มา : https://web.facebook.com/SanNakhonsithammarat…
ผู้เขียน : วันพระ สืบสกุลจินดา
เผยแพร่ : วันพุธที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔

รายละเอียด

วันนี้ วันพระ
ชวนมาดูภาพวันพระเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว
ของเมืองนครศรีธรรมราช

“…ขอให้สำเร็จสมบัติสามประการ
คือมนุษยสมบัติ แลสวรรค์สมบัติ
มีพระนิพพานสมบัติเป็นที่สุด
ตามประเพณีพระอริยเจ้า แต่ก่อนนั้นแล…”

จากคำอุทิศถวายทองคำหุ้มยอดพระบรมธาตุเจดีย์ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ธิดาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัด) กับทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ (นวล) พระนัดดาในพระเจ้านครศรีธรรมราชกับหม่อมทองเหนี่ยวนี้ ทำให้เห็นความวิริยะในการจะเข้าถึงเป้าหมายของพระพุทธศาสนาที่สำคัญสุดนั่นคือ “พระนิพพาน”

พระนิพพานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจุดหมายปลายทางของพุทธบริษัทที่จะว่าไกลก็ไกล ใกล้ก็ใกล้ เว้นแต่พระบรมศาสดาแล้ว บรรดาพุทธศาสนิกชนจะถึงได้ก็ด้วยอาศัยพระธรรมเป็นผู้ชี้ทาง

สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชเรา ได้อาศัยเอาพระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่พึ่งเสมือนตัวแทนแห่งพระบรมศาสดามานานนักหนาแล้ว อย่างน้อยก็ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ จึงจะขออ้างเอาเพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ ของพระยาตรังคภูมาภิบาล กวีชาวนครศรีธรรมราชในสมัยนั้นขึ้นสักบทหนึ่ง ความว่า

“งามบัลลังก์ทรงองค์พระเจดีย์
ไม่วายเว้นแสงพระสุรีย์ส่อง
สูงสามสิบเจ็ดวายอดหุ้มทอง
ดั่งชี้ห้องสุราลัยให้ฝูงชน”

ตรงคำว่า “ห้องสุราลัย” นี้เอง ที่อาจจะคือห้องเดียวกันกับ “พระนิพพาน” ซึ่งอาการเรียวแหลมประหนึ่งปลายลูกศรขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้เอง เฝ้าชี้ทางชี้มรรคแก่ชาวเมืองนครอยู่ตาปีตาชาติ

จึงไม่แปลกที่บรรพบุรุษจะศรัทธาซาบซึ้งว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์คือพระบรมศาสดา เพราะ โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเราตถาคต

ภาพนี้ ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ชาวฝรั่งเศส
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เป็นบรรยากาศการฟังธรรมของชาวนครศรีธรรมราชในวันพระหนึ่งไม่ทราบข้างและเดือน แต่พอจะสังเกตจากบริบทแวดล้อมได้ว่าเป็นมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระวิหารโพธิ์ลังกา

นอกจากนี้ จะขอชวนมาดูบรรยากาศวันพระเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วด้วยภาพดังกล่าว โดยขอชี้จุดให้สังเกตเป็นข้อ ๆ ไป ดังนี้
๑. พระเจดีย์รายเปลือย
๒. พระเจดีย์รายทรงระฆังคว่ำ (ลังกา) อย่างสุโขทัย
๓. พระเจดีย์องค์ใหญ่มุมตะวันตกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันพังเหลือแต่ฐานเขียงแล้วสร้างจำลองขึ้นใหม่)
๔. วิหารศาลาโล่ง
๕. พระสงฆ์ ธรรมาสน์และพานบูชากัณฑ์เทศน์
๖. จารีตการฟังธรรมของชาวนคร
๗. การแต่งกาย (เข้าวัด) ของชาวนครในสมัย ร.๖
๘. พระพุทธรูปรายผนัง
๙. ปลายนิ้วพระบาทพระนอนประจำพระวิหาร

การเข้าวัดฟังธรรม เป็นปกติวิสัยของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” ในแต่ละท้องถิ่นแห่งที่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่แยกย่อยออกต่างกัน จะมากน้อยก็ด้วยการเลือกรับและคติความเชื่อดั้งเดิมของพื้นที่นั้น ๆ อย่าง “ในพระ” ที่หมายถึงบริเวณโดยรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ มีธรรมเนียมการ “สวดด้าน” หรือ “สวดหนังสือ” กันในพระวิหารพระระเบียง เป็นต้น ฯ

ติดตามต่อได้ใน สารนครศรีธรรมราช ฉบับเร็ว ๆ นี้