ที่มา : http://www.bia.or.th/…
ผู้เผยแพร่ : หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ
เข้าถึงข้อมูล : วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

รายละเอียด

โครงการ “วัดบันดาลใจ” ริเริ่ม ๙ วัดนำร่อง
ต้นแบบในการพลิกพื้นที่ชีวิตอย่างสร้างสรรค์
พร้อมส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจสู่วัดทั่วประเทศ

สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และเหล่าภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ “วัดบันดาลใจ” ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยาม ฯ, สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯ นำร่อง ๙ วัดต้นแบบ หวังส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนรุ่นใหม่กับพระสงฆ์อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้วัดและชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันพลิกฟื้นวัดทั้งด้านกายภาพและกิจกรรม ให้เป็นพื้นที่แห่งชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยอย่างสมสมัยทั่วทั้งประเทศ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลใน ๓ โอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ ๘๔ พรรษา

นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และ ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ เผยว่า ในอดีตวัดเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม สำหรับชุมชนหลายระดับ พื้นที่วัดถูกใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคม ทั้งทางด้านจิตวิญญาณ การส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงวิชาการความรู้ให้แก่สาธุชน โดยพระมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทางสติปัญญา และเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน แต่ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ได้ทำให้บทบาทความเป็นศูนย์กลางของวัดลดความสำคัญลง ถูกจำกัดอยู่เพียงมิติทางศาสนาและการทำบุญ ส่งผลให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัดและชุมชนลดน้อยลง

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ “วัดบันดาลใจ” จากความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์ ชุมชน และเหล่าภาคีเครือข่าย เพื่อพลิกฟื้นในมิติทั้งด้านกายภาพในพื้นที่วัดและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยด้านกายภาพ ได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบมืออาชีพ เหล่าสถาปนิกและภูมิสถาปนิกที่อาสามาช่วยงานนี้ เบื้องต้นได้นำร่องคัดเลือก ๙ วัดจากทั่วประเทศ ได้แก่

วัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร

วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพมหานคร

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา

วัดภูเขาทอง อยุธยา

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม

วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ

วัดศรีทวี นครศรีธรรมราช

มาเป็นวัดต้นแบบ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายการทำงานเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาชนคนรุ่นใหม่และพระสงฆ์อย่างยั่งยืน ที่สำคัญเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับวัดและชุมชนอื่น ๆ มาร่วมมือกันพลิกฟื้นวัดทั่วประเทศให้เป็นวัดบันดาลใจของทุกคน

“ที่ผ่านมาเหล่าสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และนักออกแบบใช้ทักษะด้านการออกแบบมาเปลี่ยนแปลงสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้นหากเหล่านักออกแบบมาร่วมกันออกแบบพื้นที่วัด ก็น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสูงสุดของวิชาชีพที่จะส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจและเกิดคุณค่าขึ้นแก่สังคมและชีวิต” ผอ.โครงการ ฯ เสริม

อ่านต่อได้ที่ http://www.bia.or.th/html_th/site-content/40-news/518-วัดบันดาลใจ.html