ที่มา : https://web.facebook.com/pg/BUNCHAR2500/…
ผู้เขียน : บัญชา พงษ์พานิช
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ท่าซัก ท่าหนอน ท่าโพธิ์ ท่าวัง ท่าตีน และ ท่ามอญ หกท่าที่เหนือสุดของตลาดตัวเมืองนคร

พอดีเมื่อวานนี้เจอพี่เหลิมที่พระธาตุกับพ่อเอกที่หลักเมือง แล้วพี่เหลิมบอกว่า นัดคนสนใจที่จะอาสาหรืออยากแลกเปลี่ยน มาพบกันครั้งแรกวันอาทิตย์ ๑๕ พ.ค. นี้ บ่าย ๔ โมง ที่หาดทรายแก้วเบื้องหน้าพระธาตุกันไหม ผมก็เลยขอส่งการบ้านล่วงหน้ามา ๖ ท่าของเมืองนคร ในจังหวะที่น้ำท่ากำลังจะเป็นเรื่องพอดี ทำเพราะอยู่รอบบ้านพอดี ไม่ได้เกี่ยวอะไรกันนะครับ

๐๐๑ – ท่าซัก

แหล่งที่มา : ป้ายอธิบายที่บริเวณวัดท่าซัก

ที่ตั้ง : เป็นชื่อคลองและตำบลในท้องที่อำเภอเมือง ที่เริ่มจากคลองทุ่งปรังทางทิศตะวันตกบริเวณนอกโคก หน้าสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช หักเลี้ยวสู่ทิศตะวันออกที่หลังวัดศรีทวี (วัดท่ามอญ) ผ่านชุมชนท่าวังลอดสะพานราเมศวร์สู่ชุมชนท่าโพธิ์แล้วผ่านท่าหนอน ออกจากเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชสู่พื้นที่ตำบลท่าซัก ผ่านวัดนาวง วัดคงคาเลียบ ลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่อ่าวนคร-ปากพนัง

ความหมายและความเป็นมา : ไม่เป็นที่ชัดเจน ว่าหมายถึงท่าหรือสถานที่ “ซัก” อะไร ซักถามหรือซักผ้า ความเป็นมา ที่วัดคงคาเลียบ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ มีป้ายของชุมชนท้องถิ่นระบุว่า ณ สถานที่แห่งนั้นเคยเป็นท่าที่เรือแวะจอดเมื่อมาถึงหรือก่อนจะออกจากเมืองนคร จึงเป็นที่แวะพัก ชำระล้าง รวมทั้ง “ซักผ้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุว่าเมื่อครั้งศึกเจ้าตากตีก๊กพระยานครหลังเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงมาขึ้นท่าที่นี่ และ ทรงสรงสนานและซักพระภูษา ณ บริเวณนี้ จึงเรียกสืบกันมาว่า “ท่าซัก (ผ้าของเจ้าตาก)” นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าเมื่อหลวงพ่อทวดมายังเมืองนครหรือจะไปอยุธยา ก็ใช้ท่าที่วัดคงคาเลียบนี้ด้วย

๐๐๒ – ท่าหนอน

แหล่งที่มา : คำบอกเล่าของผู้คน แม่รัตนา พงษ์พานิช และน้ายุพา บวรรัตนารักษ์ รวมทั้งชาวชุมชนในย่านนั้นเมื่อครั้งผมยังทำงานเทศบาล (๒๕๓๐-๒๕๓๕)

ที่ตั้ง : อยู่บนลำคลองท่าซัก บริเวณชายขอบเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชด้านตะวันออกกับตำบลท่าซักจนถึงบริเวณหลังวัดท่าโพธิ์

ความหมายและความเป็นมา : เป็นคำกร่อนมาจาก “ท่าขนอน” ด้วยมีการตั้งด่านขนอนเป็นท่าเพื่อกักกันการเดินทางผ่านเพื่อตรวจสินค้า สรรพาวุธและเก็บค่าธรรมเนียมภาษีฤชากรการค้าต่าง ๆ ในสมัยที่ลำคลองนี้ยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์และการค้าสำคัญของเมืองนคร แต่ทุกวันนี้หมดบทบาทหน้าที่จึงเหลือเพียงชื่อที่กร่อนคำจนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนเป็น “หนอน” อื่น ๆ จนกระทั้ง “ตัวขี้หนอน” ก็เป็นได้

๐๐๓ ท่าโพธิ์

แหล่งที่มา : หลายเอกสารหนังสือประวัติศาสตร์เมืองนคร และ แผนที่เมืองนครโบราณของร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ย์

ที่ตั้ง : บริเวณโค้งอ้อมชุมชนและวัดท่าโพธิ์ของคลองท่าซักมาลอดสะพานถนนตากสิน อ้อมผ่านท่าหน้าวัดท่าโพธิ์ไปบริเวณหน้าโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์

ความหมายและความเป็นมา : จากหลายเอกสารบอกเล่าและบันทึก ระบุว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นวังของพระปลัดพัฒน์ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้านครในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังสิ้นเจ้าพระยานครหนูคืนเมือง แล้วเจ้าพัฒน์ยกวังสร้างเป็นวัดถวายพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่าวัดท่าโพธิ์ ซึ่งในเอกสารแผนที่เมืองนครโบราณที่เก็บรักษาต้นฉบับที่หอสมุดแห่งสหราชอาณาจักร (British Library) วาดไว้เมื่อครั้งร้อยเอกเจมส์ โลว์ ที่ถูกส่งมาสำรวจและทาบทามหยั่งเชิงเจ้าพระยานครน้อยเข้าร่วมรบรุกบุกพม่า เมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ ๒/๓ แสดงภาพวาดให้เห็นมีต้นโพธิ์ใหญ่บริเวณริมคลอง ณ โค้งคลองบริเวณดังกล่าว อาจเป็นที่มาของชื่อท่าน้ำบริเวณนี้ที่มีต้นโพธิ์ใหญ่ยืนต้นอยู่

๐๐๔ ท่าวัง

แหล่งที่มา : หลายเอกสารหนังสือประวัติศาสตร์เมืองนคร และ แผนที่เมืองนครศรีธรรมราช ในหนังสือบุดขาว เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

ที่ตั้ง : บริเวณที่ลำคลองท่าซักไหลตรงตัดผ่านสันดอนหาดทรายเมืองนครจากหน้าโรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์ ลอดสะพานราเมศวร์ถึงสะพานหลังชุมชนป่าโล่ง-มุมวัดศรีทวี ทุกวันนี้มีการขยายตัวเรียกชื่อถนนเลียบคลองฝั่งทิศใต้ของคลองฟากตะวันตกว่าถนนท่าวัง และเรียกย่านตลาดจากเชิงสะพานราเมศวร์ไปตามทิศใต้ถึงสี่แยกหน้าสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชว่าตลาดท่าวัง รวมทั้งสี่แยกท่าวังอีกด้วย ถือเป็นย่านพาณิชยกรรม ธุรกิจการเงินการธนาคารตลอดจนร้านทองของชาวนครที่รุ่งเรืองที่สุดในรอบศตวรรษที่ผ่านมา

ความหมายและความเป็นมา : จากหลายเอกสารหนังสือเท่าที่พบมีบันทึกรายงานเผยแพร่ ล้วนระบุว่า “ท่าวัง” หมายถึง “ท่าน้ำหรือท่าเรือของวังเมืองนคร” จึงได้ชื่อว่า “ท่าวัง” ดังที่มีวัดวังและเส้นทางเข้าสู่ตัวเมืองนครและวังเจ้าเมืองซึ่งทุกวันนี้เป็นศาลากลางจังหวัดนั่นเอง นอกจากนี้ครั้งหนึ่ง สะพานราเมศวร์ เคยได้รับการตั้งชื่อว่า “สะพานท่าวังวรสินธู” อันหมายถึงสะพานท่าวังที่มีน้ำดีอีกด้วย แต่จากเอกสารหนังสือบุดขาวโบราณที่พระครูเหมเจติยาภิบาลสืบค้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ชื่อแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้วาดแสดงพร้อมระบุชื่อบริเวณนี้ว่า “วังจระเข้” ซึ่งนำมาสู่อีกข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อ “ท่าวัง” ว่าอาจจะหมายถึง “ท่าที่วังจระเข้” หรือ “ท่า ณ ตำแหน่งวังน้ำที่มีจระเข้” ก็เป็นได้

๐๐๕ ท่าตีน

แหล่งที่มา : …

ที่ตั้ง : ฝั่งตรงข้ามคลองท่าซักด้านทิศเหนือของอาณาบริเวณท่าวัง โดยเฉพาะบริเวณเชิงสะพานราเมศวร์

ความหมายและความเป็นมา : เนื่องเป็นท่าน้ำทางฝั่งทิศเหนือของตลาดและตัวเมือง และชาวเมืองนิยมนอนหันศรีษะไปทางทิศใต้อันเป็นทิศที่ประดิษฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช และเรียกฝั่งทิศใต้ว่า “หัวนอน” เรียกทิศเหนือว่า “ปลายตีน” ท่าเรือทางฝั่งเหนือบริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “ท่าตีน”

๐๐๖ ท่ามอญ

แหล่งที่มา : หลายเอกสารหนังสือและการลงพื้นที่สำรวจพูดคุยกับผู้คนในย่านท่ามอญ-เตาหม้อ

ที่ตั้ง : โค้งสุดท้ายของคลองท่าซักที่ถือเป็นส่วนของต้นน้ำต่อเนื่องจากคลองท้ายวัง ทุ่งปรังที่เลียบฝั่งตะวันตกของตัวเมืองผ่านนอกโคกที่หน้าสถานีรถไฟนครศรีธรรมราชแล้วหักเลี้ยวผ่านสันดอนหาดทรายที่ตั้งตัวเมือง ณ ตำแหน่งที่เป็นที่ตั้งวัดศรีทวีในปัจจุบัน ก่อนจะลอดสะพานที่ชุมชนป่าโล่งแล้วตรงสู่ทิศตะวันออกอันเป็นเขต “ท่าวัง-ท่าตีน” ต่อเนื่องถึง “ท่าโพธิ์” “ท่าขนอน” และ “ท่าซัก” ตามลำดับ กล่าวกันว่าบริเวณวัดศรีทวีปัจจุบันคือบริเวณที่เรียกว่า “ท่ามอญ-วัดท่ามอญ” ถนนท่าวังในปัจจุบัน คือ “ตรอกท่ามอญ” ในสมัยก่อน อนึ่ง วัดท่ามอญถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ วัดศรีทวี เพื่อระลึกถึงอดีตเจ้าอาวาส ๒ รูปที่ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูศรี ฯ ทวิ–ศรี เป็น ศรีทวี

ความหมายและความเป็นมา : กล่าวกันว่าอาณาบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของย่านเมืองนครเขตนี้ที่เป็น “นอกไร่” ทุ่งนากว้างนี้มีแหล่งดินเหนียวคุณภาพสูง และมีชุมชน “เตาหม้อ” ตั้งอยู่สืบเนื่องมาเนิ่นนาน พบอิฐก้อนจำนวนหนึ่งมีตีตราว่า “โพบาย” และ “โพมอญ” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือชื่อของเตาเผาอิฐหรือวัดที่อาจมีต้นโพธิ์ด้วย เหล่านี้นำมาซึ่งข้อสันนิษฐานว่า “ท่ามอญ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับชาวมอญตามชื่อ เนื่องจากชาวมอญมีความเชี่ยวชาญในการปั้นเผาหม้อและเครื่องปั้นดินเผาตลอดจนการมีต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์หลักของชาวมอญที่นับถือพระพุทธศาสนา